Accessibility help

เมนูหลัก

กฎหมายรับราชการทหาร

กฎหมายรับราชการทหาร

 แนวคิด

                1. การรับราชการทหารเป็นการช่วยป้องกันและรักษา ความมั่นคงของประเทศ

                2. กฎหมายเกี่ยวกับการรับราชการทหารได้กำหนดไว้ว่า ชายสัญชาติไทยมีหน้าที่รับราช การทหาร คือเมื่ออายุย่างเข้าปีที่ 18 ปีต้องไปลงบัญชีทหารกองเกิน และเมื่ออายุย่างเข้าปีที่ 21 จะต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์การเรียกคนเข้ากองประจำการ

                3. บุคคลบางประเภทได้รับการยกและผ่อนผันการเข้ารับ ราชการทหาร บางคนได้รับการยกไม่ต้องรับราชการทหารกองประจำการ

 

                การที่ประเทศไทยมีดินแดนของตนเองเป็นปึกแผ่นมั่นคงมาจนถึงทุกวันนี้ เนื่องจากบรรพบุรุษของไทยมีความสามัคคี กล้าหาญ มีความเสียสละ อดทนต่อความยากลำบาก สิ่งสำคัญอย่างยิ่งข้อหนึ่งคือ การที่เรามีกองทัพอันเข้มแข็งเปรียบเหมือนรั้วของชาติ พระราชบัญญัติรับราชการทหาร พ.ศ. 2497 ระบุไว้ว่า ชายที่มีสัญชาติไทยตามกฎหมายมีหน้าที่รับราชการทหารด้วยตนเองทุกคนดังนั้น นักเรียนทุกคนจึงควรมีความรู้เกี่ยวกับกฎหมายว่าด้วยการรับราชการทหาร ถึงแม้ว่านักเรียนหญิงจะไม่ต้องรับราชากรทหาร แต่บุคคลในครอบครัวหรือผู้ที่เกี่ยวข้องอาจต้องรับราชการทหาร จึงได้นำความรู้เกี่ยวกับกฎหมายว่าด้วยการรับราชการทหารมาให้ศึกษาพอสังเขป ดังต่อไปนี้

 

ความสำคัญและ ประโยชน์ของการรับราชการทหาร

          

             1. การรับราชการทหารมีความ สำคัญและความจำเป็นสำหรับประเทศ ทุกประเทศจะมีดินแดนซึ่งมีอาณาเขตแน่นอน และมีความจำเป็นที่จะต้องป้องกันรักษาดินแดนนั้นไว้ให้คงอยู่ตลอดไปและ รอดพ้นจากการถูกศัตรูรุกราน ฉะนั้นจึงต้องมีกองทัพอันเข้มแข็งอันประกอบด้วยทหารบก ทหารเรือ ทหารอากาศ เพื่อป้องกันรักษาอำนาจอธิปไตยและผืนแผ่นดินไทยไว้ตลอดไป ซึ่งการรุกรานของศัตรูภายนอกนั้น อาจมีวิธีการหลายอย่าง อาจจะใช้กำลังรุกรานโดยตรงหรือโดยทางอ้อมด้วยการแทรกแซง ยุยง บ่อนทำลายทางการเมือง ซึ่งก็ต้องเตรียมรับสถานการณ์เหล่านั้นด้วยกลวิธีที่ต้องอาศัยความสามารถ หลายด้าน นอกจากจะมีผู้ที่รับราชการทหารด้วยความสมัครใจ โดยสมัครเข้าเรียนในโรงเรียนสังกัดกองทัพบก กองทัพเรือและกองทัพอากาศแล้ว ยังมีความจำเป็นที่จะต้องให้ชายไทยทุกคนเข้ารับราชการทหาร เพื่อที่จะได้รับการฝึกฝนอบรมยุทธวิธีต่างๆ เพื่อไว้ป้องกันรักษาประเทศชาติ เมื่อถึงคราวบ้านเมืองอยู่ในภาวะวิกฤตจะได้เป็นประโยชน์ต่อประเทศ ถึงแม้ว่าในสภาพบ้านเมืองจะเป็นปกติ สงบสุขทหารก็ยังมีส่วนช่วยเหลือในด้านการพัฒนาประเทศและช่วยเหลือราษฎร เช่น ช่วยพัฒนาด้านการก่อสร้างถนน การก่อสร้างอาคารสถานที การช่วยเหลือในด้านการศึกษา ด้านรักษาพยาบาล ในบางครั้งก็มีโอกาสได้ช่วยเหลือและบริการประชาชน ที่ได้รับความเดือดร้อนจากภัยต่างๆ เช่น อุทกภัย วาตภัย เป็นต้น

         

              2. การรับราชการทหารเป็น ประโยชน์ต่อตนเอง คือ ได้รับการฝึกให้เป็นผู้มีระเบียบวินัย มีความกลาหาญ มีความอดทนต่อความยากลำบาก อันจะเป็นพื้นฐานในการดำรงชีวิตเพื่อต่อสู้กับความยากลำบาก และจะทำให้เกิดความมานะพยายามไม่ท้อถอยต่ออุปสรรต่างๆ ที่จะเข้ามาในชีวิตมีความเสียสละประโยชน์ส่วนตนเพื่อผู้อื่น ทำให้เป็นคนมีน้ำใจโอบอ้อมอารี เป็นผู้มีมนุษยสัมพันธ์ที่ดี มีความรักในหมู่คณะ รู้จักเสริมสร้างความสามัคคี การที่มีโอกาสได้เข้าไปรับราชการทหารตามกฎหมายว่าด้วยการรับราชการทหารนั้น นอกจากจะได้มีโอกาสฝึกอบรมตามระเบียบของการรับราชาการทหารแล้ว บางคนยังได้มีความรู้และประสบการณ์ในด้านวิชาชีพ อันจะเป็นประโยชน์ในด้านการประกอบอาชีพของตนในภายหน้า เช่น งานก่อสร้าง ช่างไม้ ช่างปูน ช่างยนต์ ช่างไฟฟ้า ฯลฯ นอกจากนั้นผู้ที่ผ่านการรับราชการทหารมาแล้ว เมื่อไปสมัครทำงานด้านการรักษาความปลอดภัยของหน่วยงานใดๆ ก็ตาม มักจะได้รับการพิจารณาเป็นพิเศษกว่าผู้ที่ไม่ได้ผ่านการรับราชการทหาร

 

 

การลงบัญชีทหาร กองเกิน

 

                ทหารกองเกิน หมายถึง ชายซึ่งมีอายุตั้งแต่ 18 ปีบริบูรณ์และยังไม่ถึง 30 ปีบริบูรณ์ ซึ่งได้ลงบัญชีทหารกองเกินแล้ว

                1. บรรดาชายที่มีสัญชาติไทย เมื่อมีอายุย่างเข้าปีที่ 18 ใน พ.ศ.ใด ให้ไปแสดงตนเพื่อลงบัญชีทหารกองเกินภายใน พ.ศ.นั้น ผู้ที่ไม่สามารถไปลงบัญชีทหารกองเกินด้วยตนเองได้ ต้องให้บุคคลซึ่งบรรลุนิติภาวะและเชื่อถือได้ไปแจ้งแทน ให้นายอำเภอสอบสวนหรือผู้อำนวยการเขตสอบสวน เมื่อเห็นว่าถูกต้องให้ลงบัญชีทหารกองเกินไว้ ถ้าไม่มีผู้มาแจ้งแทน ให้ถือว่าผู้นั้นหลีกเลี่ยงขัดขืนไม่มาลงบัญชีทหารกองเกิน  ผู้ ที่จะลงบัญชีทหารกองเกินจะต้องยื่นแบบแสดงตน เพื่อลงบัญชีทหารกองเกิน คือ แบบสด.44 และเมื่อได้ลงบัญชีทหารกองเกินเสร็จแล้วนายอำเภอ หรือผู้อำนวยการเขตจะออกใบสำคัญที่เรียกว่า แบบสด.9 ให้ผู้นั้นไว้เป็นหลักฐานแสดงว่า บุคคลนั้นเป็นทหารกองเกินแล้ว ดังนั้น แบบ สด.9 จึงมีความสำคัญสำหรับผู้ที่ลงบัญชีทหารกองเกินว่าได้ปฏิบัติตนตามกฎหมายแล้ว นอกจากนั้น แบบ สด.9 ยังมีประโยชน์ทำให้รู้ข้อมูลของผู้นั้นว่าเป็นใคร อายุเท่าไร มีตำหนิอะไร บิดมารดาคือใคร มีภูมิลำเนาอยู่ที่ใด เป็นต้น  ผู้ ซึ่งได้ลงบัญชีทหารกองเกินแล้ว ให้ถือว่าเป็นทหารกองเกินตั้งแต่วันที่ 1 มกราคมของ พ.ศ.ถัดไป

 

                2. บุคคลซึ่งยังไม่ได้ลงบัญชีทหารกองเกินพร้อมกับ คนชั้นเดียวกันเพราเหตุใดๆ ก็ดี ถ้าอายุยังไม่ถึง 26 ปีบริบูรณ์ ให้ปฏิบัติในทำนองเดียวกับข้อ 1 ภายใน 30 วันนับแต่วันที่สามารถจะปฏิบัติได้ แต่จะให้ผู้อื่นแจ้งแทนไม่ได้

 

                3. บุคคลต่อไปนี้ได้รับการยกเว้นไม่ต้องไปแสดงตน ต่อนายอำเภอในการลงบัญชีทหารกองเกิน

                        1) สามเณรเปรียญ

                        2) ผู้ซึ่งอยู่ในระหว่างถูกควบคุม หรือคุมขังของเจ้าพนักงานแต่ให้ลงบัญชีทหารกองเกินไว้ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และแบบที่กำหนดในกฎกระทรวง

 

 

การเรียกคนเข้า กองประจำการ

              

            1) ทหารกองประจำการ หมายถึง ชายซึ่งขึ้นทะเบียนกองประจำการและได้เข้ารับราชการทหารในกองประจำการจนกว่า จะได้ปลดบุคคลที่อยู่ในกำหนดออกหมายเรียกมาตรวจเลือกเข้าเป็นทหารกองประจำ การนั้น คือผู้ที่เป็นทหารกองเกิน1.ในเดือนตุลาคม ทุกปี นายอำเภอจะประกาศให้ทหารกองเกินที่มีอายุย่างเข้า  21 ปีใน พ.ศ.นั้นไปแสดงตนเพื่อรับหมายเรียกที่อำเภอ

            2) ทหารกองเกินที่มีอายุย่างเข้า 21 ใน พ.ศ.ใด ต้องไปแสดงตนเพื่อรับหมายเรียก ณ อำเภอท้องที่ภูมิลำเนาทหารของตนใน พ.ศ.นั้น ผู้ที่ไม่สามารถไปด้วยตนเองได้ ต้องให้ผู้ที่บรรลุนิติภาวะและพอเชื่อถือได้ไปรับหมายเรียกแทน ถ้าไม่มีผู้แทนให้ถือว่าผู้นั้นหลีกเลี่ยงขัดขืน

            3) ทหารกองเกินซึ่งถูกเรียก ต้องมาให้คณะกรรมการตรวจเลือกทำการตรวจเลือกตามกำหนดให้หมายเรียกนั้น

 

การยกและการผ่อน ผันการเข้ารับราชการทหาร

                1. บุคคลที่ต้องไปลงบัญชีทหารกองเกินไว้ แต่ได้รับการยกเว้นไม่ถูกเรียกมารับการตรวจเลือกเข้ารับราชการทหารกองประจำ การในยามปกติ

                        1) พระภิกษุ สามเณร และนักบวชในพระพุทธศาสนาแห่งนิกายจีนหรือญวนซึ่งเป็นนักธรรมตามที่กระทรวง ศึกษาธิการรับรอง

                        2) นักบวชศาสนาอื่นซึ่งมีหน้าที่ประจำในกิจของ ศาสนาตามที่กำหนดในกฎกระทรวงและผู้ว่าราชการจังหวัดออกใบสำคัญให้ไว้

                        3) บุคคลซึ่งอยู่ในระหว่างฝึกวิชาทหารตามหลักสูตร ที่กระทรวงกลาโหมกำหนดตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการฝึกวิชาทหาร

                        4) นักเรียนโรงเรียนเตรียมทหารของกระทรวงกลาโหม

                        5) ครูซึ่งประจำทำการสอนหนังสือหรือวิชาการต่างๆ ที่อยู่ในความควบคุมของกระทรวงทบวง กรม หรือราชการส่วนท้องถิ่น ทั้งนี้ตามที่กำหนดในกฎกระทรวง และผู้ว่าราชการจังหวัดออกใบสำคัญให้

                        6) นักศึกษาของ ศูนย์กลางอบรมการศึกษาผู้ใหญ่ของกระทรวงศึกษาธิการ

                        7) นักศึกษาของศูนย์ฝึกการบินพลเรือนของกระทรวง คมนาคม

                        8) บุคคลซึ่งได้สัญชาติไทยโดยการแปลงสัญชาติ

                        9) บุคคลซึ่งได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุด ให้จำคุกครั้งเดียวตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป หรือเคยได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดหลายครั้งรวมกันตั้งแต่ 10 ปีขึ้น หรือเคยถูกศาลพิพากษาให้กักกัน

 

บุคคลที่ได้รับ การยกไม่ต้องรับราชการทหารกองประจำการ

                        1) พระภิกษุที่มีสมณศํกดิ์หรือที่เป็นเปรียญและ นักบวชในพระพุทธศาสนาแห่งนิกายญวนหรือจีนที่มีสมณศักดิ์

                        2) คนพิการทุพพลภาพซึ่งไม่สามารถเป็นทหารได้ เช่น ตาบอด หูหนวก หัวใจพิการ วัณโรค ไตอักเสบเรื้อรัง โรคเท้าช้าง กะเทย มะเร็ง ตับแข็ง จมูกโหว่ เพดานโหว่ หรือคนเผือก ฯลฯ

                        3) คนในบางท้องที่ที่กระทรวงกลาโหมประกาศว่า ไม่มีคุณวุฒิจะเป็นทหารได้

 

สรุปสาระสำคัญ

                1. ชายที่มีสัญชาติไทย มีหน้าที่ต้องรับราชการทหารตามกฎหมาย

                2. ชายที่มีสัญชาติไทย เมื่ออายุย่างเข้าปีที่ 18 ในปี พ.ศ. ใด ต้องไปขึ้นบัญชีทหารกองเกินภายใน พ.ศ.นั้น

                3. ทหารกองเกินเมื่ออายุ ย่างเข้าปีที่ 21 ต้องไปรับหมายเรียกตรวจเลือกเข้าเป็นทหารกองประจำการ

                4. บุคคลที่ได้รับการยก ไม่ต้องรับราชการทหารกองประจำการ ได้แก่ พระภิกษุที่มีสมณศักดิ์ที่เป็นเปรียญ และนักบวชในพุทธศาสนาแห่งนิกายญวนหรือจีนที่มีสมณศักดิ์ คนพิการซึ่งไม่สามารถเป็นทหารได้ คนในบางท้องที่กระทรวงกลาโหมประกาศว่าไม่มีคุณวุฒิจะเป็นทหารได้

 

ที่มา http://www.bp-smakom.org/BP_School/Social/Law1/Law-fighting.htm