Accessibility help

เมนูหลัก

โรคปอดอักเสบในเด็ก (childhood pneumonia)

โรคปอดอักเสบในเด็ก (childhood pneumonia)

        โรคปอดอักเสบในเด็ก (childhood pneumonia) เป็นโรคที่ทำให้เกิดความเจ็บป่วยที่รุนแรง บางครั้งอาจทำให้เกิดความพิการ หรือทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้จากโรคเรื้อรังทางปอด หรือโรคหลอดลมโป่งพอง จากการศึกษาขององค์การอนามัยโลกพบว่า โรคปอดอักเสบเป็นสาเหตุของการตายเป็นอันดับหนึ่งในเด็กที่อายุต่ำกว่า 5 ปี ในแต่ละปีจะมีเด็กทั่วโลกที่เสียชีวิตจากปอดอักเสบปีละ 2.4 ล้านคน

        ในประเทศกำลังพัฒนา พบผู้ป่วยโรคปอดอักเสบมากกว่าในประเทศที่พัฒนาแล้ว 12-15 เท่า สำหรับประเทศไทยพบว่า อัตราการป่วยของโรคปอดอักเสบในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี คิดเป็นร้อยละ 6.2 ต่อปี ในเด็กที่อายุต่ำกว่า 5 ปี ที่เป็นโรคปอดอักเสบส่วนใหญ่ มักมีอาการรุนแรง และอาจเสียชีวิตได้ในระยะเวลาอันรวดเร็วหลังจากเริ่มป่วย ผู้ป่วยเด็กที่รอดชีวิตอาจจะประสบกับภาวะแทรกซ้อน หากมิได้แก้ไขจะทำให้มีผลกระทบต่อการเจริญเติบโตของเด็ก และอาจก่อให้เกิดความพิการขึ้นได้

 

สาเหตุ    สาเหตุของโรคนี้ส่วนใหญ่เกิดจากการติดเชื้อไวรัส หรือเชื้อแบคทีเรีย มีเพียงส่วนน้อยที่อาจเกิดจากการแพ้ หรือการระคายเคืองต่อสารที่สูดดมเข้าไป
        การติดเชื้อของระบบทางเดินหายใจ ช่วงแรกอาจเป็นแค่หวัด มีไข้ธรรมดา ต่อมาอาจลุกลามเป็นปอดอักเสบได้
        ผู้ป่วยปอดอักเสบจากเชื้อไวรัสส่วนมากอาการไม่รุนแรง อาจดีขึ้นได้เอง และมีอัตราการเสียชีวิตต่ำเมื่อเทียบกับเชื้อแบคทีเรีย 
        เชื้อโรคที่ก่อให้เกิดโรคปอดอักเสบเข้าสู่ร่างกายได้หลายวิธี เช่น การสูดหายใจเข้าไป การสำลัก การกระจายของเชื้อตามกระแสเลือดไปสู่ปอด ในภาวะปกติระบบหายใจในร่างกายจะมีกลไกในการป้องกันไม่ให้มีสิ่งแปลกปลอม หรือเชื้อโรคเข้าสู่หลอดลม หรือถุงลมปอดโดยร่างกายมีจมูกเป็นอวัยวะในการกรองเชื้อโรค และฝุ่นละอองไม่ให้เข้าสู่ปอด และขับสิ่งต่างๆ ออกจากร่างกายโดยการไอ นอกจากนี้ในถุงลมปอด ยังมีกลวิธีในการกำจัดเชื้อหลายอย่าง เช่น
เชื้ออาจถูกกำจัดออกจากร่างกายโดยมีเม็ดเลือดขาว มากินเชื้อโรคหรือมีระบบภูมิคุ้มกันมาทำลายเชื้อโรค

        ผู้ป่วยเด็กส่วนใหญ่ติดเชื้อโดยการสูดสำลักเอาเชื้อก่อโรคที่อยู่บริเวณคอเข้าไปในหลอดลมส่วนปลาย หรือถุงลมปอด ถ้าจำนวนเชื้อที่สูดสำลักเข้าไปที่ถุงลมมมากเกินกว่าร่างกายจะกำจัดออกได้ เชื้อเหล่านี้จะแบ่งตัว และก่อให้เกิดโรคปอดอักเสบตามมา ทำให้เนื้อปอดถูกทำลาย การแลกเปลี่ยนออกซิเจน และคาร์บอนไดออกไซด์ลดลงทำให้ผู้ป่วยขาดออกซิเจนได้
 

อาการ

        ในระยะเริ่มแรก จะมีอาการไข้ ไอมีเสมหะ และหอบเหนื่อย อาการของผู้ป่วยโรคปอดอักเสบแตกต่างกันในผู้ป่วยแต่ละรายทั้งนี้ขึ้นอยู่กับเชื้อโรคที่เป็นสาเหตุ อายุของผู้ป่วยและความรุนแรงของโรค โดยทั่วไปในผู้ป่วยปอดอักเสบจากเชื้อไวรัสจะมีอาการและอาการแสดงของการติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนต้นนำมาก่อน เช่น ไข้ น้ำมูก ไหล ไอ หลังจากนั้นผู้ป่วยจะค่อยๆ เริ่มมีอาการหายใจลำบาก หายใจเร็ว จมูกบาน ซี่โครงบาน และตัวเขียวได้ 
        ผู้ป่วยที่มีปอดอักเสบจากเชื้อแบคทีเรียมักจะมีอาการที่เกิดขึ้นเฉียบพลันดูป่วยหนักไอมาก และมีอาการเจ็บหน้าอกร่วมด้วยได้
        อาการที่ไม่เฉพาะเจาะจง ได้แก่ มีไข้ อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ กระสับกระส่าย ร้องกวนและงอแง ผู้ป่วยบางรายจะมีหนาวสั่นได้ ในเด็กทารกอาการแสดงของโรคปอดอักเสบส่วนมากจะไม่มีลักษณะเฉพาะ ผู้ป่วยบางรายอาจมีไข้หรือไม่มีไข้ก็ได้ อาจมีอาการซึม อาเจียน และไม่ยอมดูดนมหรือน้ำ
        อัตราการหายใจที่ผิดปกติเป็นตัวอาการบ่งชี้ที่มีความไวและมีความจำเพาะที่ดีที่สุดในการให้การวินิจฉัยว่าผู้ป่วยเป็นปอดอักเสบในเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 5 ปี การนับอัตราการหายใจนั้นต้องนับเต็มหนึ่งนาที และควรนับอัตราการหายใจในขณะที่ผู้ป่วยสงบ และไม่ร้องไห้ ผู้ป่วยปอดอักเสที่มีอัตราการหายใจเร็วร่วมกับมีซี่โครงบานและบริเวณคอบุ๋มมาก ขณะหายใจเข้าจะบ่งว่าอาการรุนแรงมาก
        องค์การอนามัยโลกได้แนะนำให้ใช้อัตราการหายใจในการประเมินผู้ป่วยเด็กที่มีประวัติไข้ และไอเป็นอาการนำ โดยอัตราการหายใจที่เร็วผิดปกติจะบ่งชี้ถึงภาวะปอดอักเสบ

อัตราการหายใจที่ผิดปกติในกลุ่มอายุต่างๆ ในเด็ก ดังต่อไปนี้

        อายุแรกเกิดถึง 2 เดือน อัตราการหายใจไม่ควรเกิน 60 ครั้ง/นาที 
        อายุ 2 เดือนถึง 12 เดือน อัตราการหายใจไม่ควรเกิน 50 ครั้ง/นาที 
        อายุ 12 เดือน ถึง 5 ปี อัตราการหายใจไม่ควรเกิน 40 ครั้ง/นาที 
 

การวินิจฉัย

        จากการซักถามประวัติอาการ การตรวจร่างกาย และการตรวจระบบทางเดินหายใจ
การตรวจหาเชื้อก่อเหตุทำได้หลายวิธี เช่น การตรวจเสมหะ การเพาะเชื้อ การตรวจน้ำเหลือง และการตรวจแอนติเจน
        ในต่างประเทศนิยมตรวจแอนติเจนของไวรัสบางชนิด เช่น RSV และ influenza ซึ่งจะมีประโยชน์ในการป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อไวรัส การตรวจภาพรังสีทรวงอก หรือที่เรียกว่าเอ็กซเรย์ปอด ในบางรายที่มีปัญหาในการวินิจฉัยอาจพิจารณาส่องกล้องผ่านทางหลอดลม 
 

การรักษา

        หลักการรักษาโรคปอดอักเสบในเด็กขึ้นกับเชื้อโรคที่เป็นสาเหตุ อายุของผู้ป่วย และความรุนแรงของโรค 
        ผู้ป่วยเด็กอายุน้อยกว่า 5 ปีมักได้รับการรักษาตัวในโรงพยาบาล ทั้งนี้ขึ้นกับความรุนแรงของอาการ ความรุนแรงของภาวะขาดน้ำ ภาวะพร่องออกซิเจน และยังอาจพิจารณาให้สารน้ำทางหลอดเลือดได้
        ผู้ป่วยปอดอักเสบและมีอาการไม่รุนแรงมาก เช่น มีไข้ ไอ และหายใจ เร็วไม่มากนัก แพทย์อาจจะให้การรักษาให้ยาปฏิชีวนะรับประทาน (ในกรณีที่สงสัยว่าปอดอักเสบจากเชื้อแบคทีเรีย) และนัดผู้ป่วยมาดูเป็นระยะๆ ได้
        ผู้ป่วยเด็กที่มีอาการหนักต้องรับไว้ในโรงพยาบาล ได้แก่
 

  • อายุน้อยกว่า 6 เดือน
  • หอบมาก ต้องการออกซิเจน
  • คลื่นไส้อาเจียน
  • กินยาแล้วไม่ได้ผล
  • ภูมิคุ้มกันต่ำ
  • พ่อแม่ไม่น่าไว้วางใจว่าจะดูแลเด็กได้ดีพอหรือไม่
  • ยาปฏิชีวนะ

การให้ยาปฏิชีวนะ

        เพื่อฆ่าเชื้อแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุ การเลือกยาในกลุ่มใดต้องพิจารณาถึงอายุของผู้ป่วย ประวัติการสัมผัสเชื้อ โอกาสที่เชื้อจะดื้อยา และอาศัยข้อมูลจากการซักถามประวัติอาการอื่นๆประกอบการเคาะปอดเพื่อให้เสมหะออกได้

        พบว่าการเคาะปอดไม่จำเป็นในผู้ป่วยเด็กที่เป็นโรคปอดอักเสบ แม้ว่าเด็กจะยังไม่สามารถขากเสมหะได้ดี แต่ส่วนใหญ่แล้วจะสามารถกำจัดเสมหะออกจากทางเดินหายใจได้ สำหรับเด็กเล็กที่เป็นโรคหลอดลมฝอยอักเสบ การเคาะปอดมีประโยชน์ช่วยกำจัดเสมหะและเมือกในทางเดินหายใจ
 

ยาขยายหลอดลม

        ยาขยายหลอดลมไม่จำเป็นต้องให้ทุกราย การติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนล่างที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรียมักจะไม่ทำให้เกิดการหดเกร็งตัวของหลอดลมขนาดเล็ก เด็กเล็กที่มีภาวะหลอดลมไวต่อการกระตุ้นหรือในรายที่เป็นโรคหืด มักจะเกิดปัญหาหลอดลมหดเกร็งเมื่อมีการติดเชื้อไวรัส ซึ่งผู้ป่วยกลุ่มนี้จะตอบสนองดีต่อยาขยายหลอดลม


ออกซิเจน

        แพทย์จะพิจารณาให้ออกซิเจนในผู้ป่วยที่เขียว หอบมาก มีอาการซึมหรือกระวนกระวาย ไม่ยอมกินนม และน้ำ หายใจเร็วมากกว่า 70 ครั้งต่อนาที การใช้เครื่องเพิ่มความชื้นให้กับลมหายใจเข้าไม่ค่อยมีประโยชน์เท่าใดนัก พบว่าการเพิ่มความชื้นผ่านทางออกซิเจนได้ผลดีกว่า

สารน้ำและอาหาร

        จะต้องให้พอเพียงกับความต้องการของผู้ป่วย ประโยชน์ของการให้สารน้ำ ที่เหมาะสมและเพียงพอจะช่วยลดความเหนียวของเสมหะ และสามารถขับเสมหะออกจากร่างกาย โดยการไอได้ง่ายขึ้น ลดการคั่งค้างของเสมหะที่อุดกั้นทางเดินหายใจในเด็กได้ และยังเป็นการทดแทนการสูญเสียน้ำจากร่างกายผู้ป่วยซึ่งเกิดจากภาวะไข้สูง หายใจหอบเร็ว

 
ระยะหาย

        เมื่อผู้ป่วยหายจากปอดอักเสบแล้ว ส่วนใหญ่แล้วหน้าที่ของปอดจะกลับมาเป็นปกติ ความผิดปกติของภาพรังสีทรวงอกจะหายไปประมาณ 6-8 สัปดาห์ บางรายงานพบว่า ผู้ป่วยปอดอักเสบในวัยเด็กจะมีความสัมพันธ์กับสมรรถภาพปอดที่ลดลงกว่าปกติเมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่ ผู้ป่วยที่เป็นปอดอักเสบจากเชื้อที่รุนแรง เช่น เชื้อหัด เชื้อไข้หวัดใหญ่อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนคือ หลอดลมบางส่วนเสียแบบถาวร

 

ที่มา http://www.lannababyhome.com/webboard/index.php?topic=310.10