Accessibility help

เมนูหลัก

อยู่หรือหย่า ผ่าปมชีวิตคู่

อยู่หรือหย่า ผ่าปมชีวิตคู่

               "ปัญหาของชีวิตคู่เริ่มจากเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ในชีวิตประจำวัน ความเครียดในแต่ละวัน การสื่อสารระหว่างคนสองคน ปัจจัยเหล่านี้เป็นเหตุที่ทำให้ชีวิตคู่เดินทางไม่ถึงฝั่ง อีกทั้งปัจจุบันแรงยึดเหนี่ยวของความเป็นสังคมไทย ความเป็นชุมชน ความเป็นครอบครัวขยายลดน้อยลง คนเป็นอิสระกันมากขึ้น มีความเป็นไทยสากลมากขึ้น ซึ่งอาจจะเป็นเหตุผลที่ทำให้คนตัดสินใจแยกกันง่ายกว่าเมื่อก่อน" น.พ.ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์ รองประธานมูลนิธิเครือข่ายครอบครัว กล่าวในรายการวิทยุครอบครัวคุยกัน (FM 92.0) ช่วงครอบครัวสร้างสุข โดยผู้ฟังรายการวิทยุโทรศัพท์เข้ามาปรึกษาปัญหาชีวิตคู่ที่เริ่มสั่นคลอน และกำลังอยู่ในช่วงการตัดสินใจว่าจะอยู่หรือหย่า

                คุณหมอแนะนำผ่านรายการว่า เมื่อชีวิตคู่เริ่มเดินทางมาถึงทางตัน สิ่งที่ควรพิจารณาคือใจของเราเอง แล้วจึงหาทางเลือกว่าจะทำใจยอมรับหรือตัดสินใจหย่า ทุกอย่างขึ้นอยู่ที่จิตใจ หากเราทำใจยอมรับและให้อภัยในพฤติกรรมต่างๆ ของอีกฝ่ายได้สถาบันครอบครัวก็จะยังคงอยู่ต่อไป แต่การให้อภัยไม่ใช่การนับวันรอให้อีกฝ่ายเปลี่ยนพฤติกรรม เพราะหากทำอย่างนั้นเราเองจะทุกข์และจะเป็นทุกข์ที่ยาวนาน

               แต่ถ้าเรารู้สึกว่าทำใจไม่ได้ก็เป็นสิทธิ์ของเราที่จะเลือก ขึ้นอยู่กับใจของคนตัดสิน หรืออาจจะเลือกทางอื่น เช่น การแยกกันภายใต้หลังคาเดียวกัน แยกกันอยู่คนละบ้านแต่ยังไม่ได้จดทะเบียนหย่า เป็นการลองก่อนหย่ากันจริงๆ ซึ่งเป็นอีกวิธีที่จะช่วยให้เรากลับไปคิดทบทวนอีกครั้งก่อนตัดสินใจ แต่ไม่ว่าจะเลือกทางใดให้กับชีวิตคู่ อย่าลืมว่ายังมีสิ่งหนึ่งที่สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากันก็คือลูก พ่อแม่ควรอธิบายให้ลูกเข้าใจ เพราะหากลูกไม่เข้าใจจะเกิดปัญหาที่ตามมาได้ เพราะเด็กจะเก็บไปคิดและตีความเอง ควรอธิบายกับลูกอย่างตรงไปตรงมา ให้ลูกเห็นว่าพ่อกับแม่ยังต้องการเป็นพ่อแม่ที่ดีของลูกต่อไป แต่พ่อกับแม่ไม่สะดวกใจที่จะอยู่ด้วยกัน

หากถามว่าทำอย่างไรให้

เป็นสุขในชีวิตที่เหลือเพียงครึ่ง

               คุณหมอบอกว่า ใช้ชีวิตให้เหมือนปกติที่เคยเป็นมา ให้มองว่าเราได้ผ่านช่วงที่เลวร้ายที่สุดของชีวิตไปแล้ว จะพบว่าปัญหาอย่างหนึ่งของคนที่หย่าคือรู้สึกว่าตัวเองมีปม เพราะฉะนั้นเมื่อมีคนรักใหม่ก็มีแนวโน้ม ที่จะไขว่คว้าเข้ามาอย่างรวดเร็ว เพราะคิดว่าจะช่วยชดเชยปมดังกล่าว จิตสำนึกประเภทนี้จะเป็นตัวสร้างปัญหามาก เพราะมีเวลาไตร่ตรองน้อยและมีโอกาสซ้ำรอยเดิมได้ง่าย สิ่งที่ง่ายในการปฏิบัติคือพยายามเป็นตัวของเราเอง อย่าคิดว่าเรามีปมจากการหย่าร้าง ท่องไว้เสมอว่าชีวิตเราต่อไปนี้จะดีขึ้น คิดและพิจารณาสิ่งต่างๆ ที่ผ่านเข้ามาให้ถี่ถ้วน

               แม้ว่าหลายคู่จะมองการหย่าร้างหรือแยกทางกันเป็นหนทางออกสำหรับชีวิตคู่ หากลองมองในมุมกลับกันยังมีอีกหลายวิธีที่จะประคับประคองชีวิตคู่และรักษาสถาบันครอบครัวให้คงอยู่

               "ลองเปลี่ยนมุมมอง หากเวลาที่ใช้ชีวิตคู่แล้วความรักความผูกพันที่เคยมีต่อกันเริ่มร่อยหรอลง จากที่เคยมองว่าสามีหรือภรรยาทำอะไรไม่ดีกับเราบ้าง ลองตั้งคำถามให้กับตัวเองใหม่ว่ามีอะไรบ้างที่เราทำไม่ดีกับคู่ชีวิตของเรา และลองจัดทำบัญชีรักเพื่อทบทวนและลองย้อนกลับไปมองว่ามีอะไรบ้างที่เราทำให้สามีหรือภรรยาเจ็บปวด และมีอะไรดีๆ ที่เราได้รับจากคู่ชีวิต พยายามนึกให้มาก เริ่มตั้งแต่ตอนคบกัน แต่งงาน จนถึงปัจจุบัน ส่วนบัญชีแค้นอย่าไปยุ่งไปสนใจ พิจารณาจากภายในโดยใช้ความเงียบ ความสงบ จะทำให้เกิดความเข้าใจและเห็นอกเห็นใจกัน บางคู่จากที่เคยจะเลิกอาจจะไม่ต้องเลิกกันก็เป็นได้" น.พ.ยงยุทธกล่าว

               ชีวิตคู่ไม่จำเป็นต้องจบลงที่การหย่าร้างเสมอไป หากเราเปิดใจให้กว้างและยอมรับที่จะให้อภัย

ที่มา http://women.thaiza.com