Accessibility help

เมนูหลัก

11 วิธีลดอาการปวดหัวไมเกรน(migraine)

 

 

          เป็นที่ทราบกันดีว่า คนที่เกิดมาไม่ปวดหัวบ่อยนั้นเป็นคนที่เกิดมาโชคดี หรือเกิดมามีบุญแบบสุดๆ ไปเลย คนไข้ผู้หญิงท่านหนึ่งเล่าว่า เคยคิดจะฆ่าตัวตายเนื่องจากปวดหัวบ่อย (ท่านเป็นไมเกรน) คนไข้ที่เป็นทหารเกณฑ์ท่านหนึ่งบอกว่า เครียดมาก เพราะฝึกกลางแดดทีไรปวดหัวทุกที

          ข่าวดีคือ ทุกวันนี้เรามียาดีๆ ที่ทำให้อาการไมเกรนทุเลาลงไปได้มาก แถมยังมียาที่ช่วยป้องกันไมเกรนได้ผลค่อนข้างดีแล้ว นอกจากนั้นวันนี้ยังมีวิธีลดโอกาสปวดหัวจากไมเกรนมาฝากพวกเราด้วย

 

 

 

·                               คุณแอนเจลา เทย์เลอร์... คุณแม่ลูกสอง อายุ 50 ปี จากเมืองเคนท์ สหราชอาณาจักร (หมู่เกาะอังกฤษ) เล่าว่า เมื่อ 4 ปีก่อนเธอปวดหัวอย่างหนัก ทำให้ไม่มีความสุขตลอดวันหยุดคริสต์มาส

...

·                                 ตอนนั้นเธอกินแซลมอนรมควันแกล้มแชมเปญ ไม่ถึงชั่วโมงก็มีอาการปวดหัวข้างเดียว (ไมเกรน) กำเริบ ทำให้วันหยุดปีนั้นกลายเป็น "วันหยุดสุดเซ็ง" ไปแทน

·                                 เธอบอกว่า ปีนี้เตรียมตัวไว้อย่างดีเลย เริ่มจากการที่จะกินอาหารตรงเวลา ไม่ปล่อยให้หิว ไม่ดื่มเหล้า พักผ่อนนอนหลับให้มากพอ ไม่ปล่อยให้ร่างกายเหนื่อยหรือเพลียมากเกินไป ซึ่งทั้งหมดนี้กระตุ้น (trigger) อาการปวดหัวไมเกรนได้ 

...

·                                 คนที่ปวดหัวบ่อยอย่าเพิ่งตกใจ เพราะท่านไม่ได้ปวดหัวอยู่คนเดียว... ผู้หญิง 16-18% และผู้ชาย 6-8% เป็นไมเกรน เฉลี่ยแล้วคนในโลก 8 คนจะเป็นโรคปวดหัวไมเกรน 1 คน (ข่าวร้ายคือ ผู้เขียนก็เป็นโรคปวดหัวไมเกรนเช่นกัน)

...

...
...

                   อาจารย์แพทย์หญิงมานูเอลา ฟอนเทบาสโซ แพทย์ประจำคลินิกปวดหัวที่โรงพยาบาลชุมชนยอร์คกล่าวว่า ผู้หญิง 16-18% และผู้ชาย 6-8% เป็นไมเกรน

                   ไมเกรนเป็นโรคปวดหัวที่มีความรุนแรงปานกลางจนถึงรุนแรงมาก คนไข้มากกว่าครึ่งไม่ทุเลาด้วยยาแก้ปวดพาราเซตามอล อาการปวดเป็นแบบ "ตุ๊บๆ" เต้นตามจังหวะชีพจร ส่วนใหญ่จะปวดข้างเดียว

...

                   คนไข้ไมเกรนส่วนน้อยจะมีอาการนำก่อนปวดหัว หรือที่เรียกว่า "ออรา (aura)" เช่น ตามืดหรือพร่าไปชั่วคราว ตาเห็นแสงระยิบระยับ ฯลฯ คนไข้ส่วนใหญ่ไม่มีอาการนำ

                   อาการไมเกรนในคนไข้บางคนทุเลา หรือหายไปได้... ถ้าได้นอน และมักจะกำเริบถ้าได้ยินเสียงดังๆ หรือเห็นแสงจ้าๆ

...

                   อาจารย์ฟอนเทบาสโซ และคณะมีคำแนะนำในการป้องกันโรคไมเกรนกำเริบ 8 ข้อดังต่อไปนี้

 

(1). กินอาหารให้ตรงเวลา

·                                 การกินอาหารไม่ตรงเวลา หรืองดอาหารเป็นบางมื้ออาจทำให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ (hypoglycemia) ซึ่งเป็นตัวกระตุ้น (trigger) สำคัญที่ทำให้อาการปวดหัวกำเริบ

 

...

(2). ลดขนม-น้ำตาล

·                                 การกินขนม อาหารหวานมากๆ เครื่องดื่มเติมน้ำตาล หรือลูกอมอาจทำให้น้ำตาลในเลือดสูงขึ้นเร็วและลงเร็ว ผลที่ตามมาคือ ระดับน้ำตาลในเลือดจะขึ้นๆ ลงๆ โดยเฉพาะ "ขาลง" นั้นมีส่วนกระตุ้นอาการปวดหัวได้ (ทำไมขึ้นๆ ลงๆ คล้ายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ก็ไม่ทราบ)

 

...

(3). ไม่ดื่มเหล้า

·                                 เหล้า เบียร์ ไวน์ และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มีส่วนกระตุ้นทำให้ปวดหัวไมเกรนเพิ่มขึ้นได้ กลไกอาจเป็นจากการที่หลอดเลือดเต้นแรงขึ้น (ขยายตัว-หดตัวมากขึ้น) ในช่วงแรก และระดับน้ำตาลในเลือดมักจะต่ำลงในเวลาต่อมา (แอลกอฮอล์มีพิษต่อตับ ไปกดการสร้างน้ำตาลจากแป้งในตับ)

 

...

(4). ปรึกษาหมอ

·                                 ปรึกษาหมอใกล้บ้านดูว่า มีเวลาปวดหัวขึ้นมา... ควรทำอย่างไร เช่น ควรกินยาอะไรบ้าง ขนาดเท่าไร ฯลฯ

·                                 ถ้าเป็นบ่อยตั้งแต่ 2 ครั้งต่อสัปดาห์... ควรปรึกษาหมอว่า จะใช้ยาป้องกันอาการปวดได้หรือไม่

 

...

(5). เตรียมยา

·                                 เตรียมยาแก้ปวดไว้ประจำบ้าน... อย่าปล่อยให้ยาหมด ให้เตรียมยาไว้อย่างน้อย 2-4 เม็ดเผื่อไว้เลย

·                                 ถ้าเดินทางบ่อย... ให้ทำรายการเช็คของใช้ (checklist) ที่รวมยาไว้เสมอ หรือติดป้ายเตือนที่ประตูบ้านว่า อย่าลืมนำยาไปด้วย

·                                 ถ้าขับรถบ่อยง.. ให้เตรียมยาไว้ในรถ

 

...

(6). อย่าเปลี่ยนเวลานอน

·                                 การเปลี่ยนเวลานอน เช่น วันนี้นอนหัวค่ำ พรุ่งนี้นอนดึก ฯลฯ อาจกระตุ้นไมเกรนได้

 

...

(7). นอนให้พอ

·                                 ภาวะอดนอนมีส่วนกระตุ้นไมเกรน เพราะฉะนั้นถ้าจำเป็นต้องเดินทางไกลข้ามคืน เช่น นั่งรถไฟ รถทัวร์ ฯลฯ ควรลงทุนเดินทางกลางวัน หรือเลือกเดินทางแบบไม่รีบร้อน เพื่อให้มีเวลานอนชดเชยมากพอ

 

...

(8). สังเกตอาการ

·                                 ควรสังเกตอาการนำ (aura) หรืออาการของโรคระยะแรกๆ ว่า เป็นอย่างไร เนื่องจากการรักษาโรคในระยะแรกๆ ได้ผลดีกว่าการรักษาหลังเป็นโรคนานๆ

·                                 ช่วงไหนที่เป็นโรคบ่อย... ควรหลีกเลี่ยงงานเลี้ยง งานสังสันทน์พบปะคนจำนวนมาก หรืองานที่มีเสียงดังๆ เช่น งานแสดงดนตรี ฯลฯ เพื่อลดความเครียดที่อาจทำให้โรคกำเริบได้

 

...

(9). แบ่งงาน

·                                 การรับงานหรือภาระต่างๆ ไว้คนเดียวมากๆ โดยเฉพาะท่านที่เป็นแม่บ้านคงจะไม่ดี ทางที่ปลอดภัยกว่าคือ แบ่งงานให้คนอื่น หรือขอความช่วยเหลือคนอื่นให้รับงานไปบ้าง เช่น ถ้าทำกับข้าว ควรฝึกให้ลูกๆ หลานๆ ช่วยล้างจาน ถูพื้น ล้างรถ ฯลฯ

·                                 ถ้าทำงานที่มีเวรหรืองานล่วงเวลาก็ไม่ควรรับงานมากเกิน เนื่องจากถ้าร่างกายอ่อนเพลียมากเกินแล้ว จะปวดหัวได้ง่าย

 

...

(10). พูดคำว่า ไม่" ให้เป็น

·                                 คนที่พูดคำว่า "ไม่" ไม่เป็น อะไรๆ ก็ "รับ" เข้ามาหมด เช่น ใครมอบงานอะไรให้ก็รับหมด ใครขออะไรก็ให้หมด ฯลฯ แบบนี้ชีวิตอาจจะหาเวลาให้กับตัวเองไม่ได้เลย ทำให้เครียด และปวดหัวง่าย

...

·                                 ธรรมดาของคนใจดีนั้น... มักจะตกเป็นเหยื่อของคน "ขี้ขอ" หรือคนมักมาก ทำให้คนใจดีหรือคนที่มีน้ำใจลำบากบ่อยมากๆ

·                                 ทางที่ดีคือ ควรหัดปฏิเสธ หรือพูดคำว่า "ไม่" ให้เป็น เพื่อไม่ให้พวกคนมักมากหรือคนขี้ขอมาเบียดเบียนจนปวดหัวบ่อยเกิน

 

...

(11). แบ่งเวลา

·                                 ญี่ปุ่นมีภาษิตหนึ่งกล่าวว่า "เจ็บป่วยเล็กน้อย อายุยืน" หมายถึงว่า ถ้าเราเจ็บป่วยเล็กๆ น้อยๆ แล้ว หันมาศึกษาหาความรู้ ใส่ใจกับสุขภาพให้มาก แบบนี้จะพลิกวิกฤตให้กลายเป็นโอกาส และอาจทำให้อายุยืนยาวอย่างมีคุณภาพได้

·                                 การให้เวลากับคนอื่นนั้นดี ทว่า... ควรหาเวลาให้กับตัวเอง เพื่อทำอะไรที่เราชอบ หรือพักผ่อนสบายๆ สไตล์เราบ้าง เพื่อลดความเครียด ซึ่งอาจกระตุ้นไมเกรนได้เช่นกัน 

 

คัดจาก บ้านสุขภาพ- น.พ.วัลลภ พรเรืองวงศ์