Accessibility help

เมนูหลัก

ปริญญา ตามอัธยาศัย

ปริญญา ตามอัธยาศัย

โดย กานต์ดา บุญเถื่อน

ผศ.สุพรรณี สมบุญธรรม ผู้อำนวยการโครงการมหาวิทยาลัยไซเบอร์ไทย สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) บอกว่า โครงการมหาวิทยาลัยไซเบอร์ไทย (Thailand Cyber University) หรือทีซียู เป็นศูนย์กลางการศึกษายุคใหม่สำหรับผู้ใฝ่รู้ทุกคน แต่ไม่ต้องมานั่งเรียนอ้าปากตาค้างฟังอาจารย์ในห้องเรียนปกติเหมือนนักศึกษาอื่น หรืออยากเรียนคู่ขนานกับหลักสูตรปกติทั่วไปก็ทำได้

“โครงการทีซียู ไม่ใช่มหาวิทยาลัยแห่งใหม่ แต่เป็นศูนย์กลางให้สถาบันอุดมศึกษาทั้งในและต่างประเทศใช้เป็นสนามทดลองจัดการเรียนการสอนในรูปแบบอีเลิร์นนิ่ง ให้ผู้เรียนสามารถเข้าไปสมัครเรียนออนไลน์ในวิชาที่ชอบและสนใจได้ด้วยตนเอง” ผศ.สุพรรณี อธิบาย

มหาวิทยาลัยไซเบอร์ไทยเริ่มเปิดบริการรับสมัครนักศึกษามาตั้งแต่ปี 2547 สมัยที่ ศ.ดร.ภาวิทย์ ทองโรจน์ นั่งเป็นเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา และเปิดให้บริการความรู้ผ่านอินเทอร์เน็ตในปี 2548 โดยมีรายวิชา และหลักสูตรที่ใช้เรียนจำนวน 16 หลักสูตร หรือ 82,331 บทเรียน

หลักสูตรทั้งหมดเป็นการพัฒนาร่วมกันระหว่าง สกอ. และสถาบันอุดมศึกษาทั้งในและต่างประเทศร่วม 34 แห่ง อาทิ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยศิลปากร มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ฯลฯ

แต่ก็ใช่ว่า การสมัครเรียนกับมหาวิทยาลัยไซเบอร์จะสบาย เผลอๆ อาจยากกว่าเข้าห้องเรียนตามตารางเวลาปกติเสียอีก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้เรียนต้องมีวินัยอย่างเคร่งครัด

“สิ่งสำคัญของการศึกษาแบบอีเลิร์นนิ่งคือ ผู้เรียนต้องมีความขยันมากถึงมากที่สุด ภายใต้กฎกติกาที่เจ้าของหลักสูตรแต่ละสถาบันกำหนดขึ้น เช่น ต้องเข้าเรียนให้ครบตามเวลาเรียนที่กำหนด ต้องทำแบบฝึกหัดส่งให้ทันเวลา ต้องเข้าร่วมประชุมทางไกลพร้อมหน้ากันเมื่ออาจารย์ผู้สอนนัด และต้องสอบวัดผลหลังเรียนจบเทอมให้ผ่าน เป็นต้น” ผู้อำนวยการโครงการ อธิบายรูปแบบการเรียนการสอนยุคใหม่

อย่างไรก็ดี มหาวิทยาลัยไซเบอร์ไม่จำกัดว่า คนที่จะมาสมัครเรียนจะต้องมาเรียนเอาปริญญาเสมอไป ใครก็สามารถสมัครเรียนได้ อยากเข้าฟังวิชาไหน หรืออยากทบทวนความรู้ตัวเองสมัยหนุ่มๆ สาวๆ  ก็คลิกเข้าหาความรู้กันตามอัธยาศัย

"กรณีที่ผู้เรียนประสงค์จะรับใบประกาศหลังเรียนจบ นักศึกษาต้องปฏิบัติตามกฎกติกาการเรียนอย่างเคร่งครัด ตัวอย่างเช่น หากครูจะสั่งว่าจะต้องอ่านตำราเล่มไหนวันไหน และระบบจะเก็บเวลาล็อกอินของนักเรียนขณะที่เข้าระบบให้ครูสามารถตรวจสอบเวลาเรียนจริงได้ และจะประเมิลผลการเรียนสุดสัปดาห์หรือตามอาจารย์สะดวก ในลักษณะตั้งคำถามจากเนื้อหาที่เรียนเพื่อทดสอบว่านักเรียนได้ความรู้จริง" ผศ.สุพรรณี แจงรายละเอียด

อยู่ไหนก็เรียนได้

ข้อดีประการหนึ่งของมหาวิทยาลัยไซเบอร์ไทยคือ อยู่ที่ไหนก็เรียนได้ แต่ต้องมีคอมพิวเตอร์ที่เชื่อมต่อเครือข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง หรือบรอดแบนด์ เนื่องจากเนื้อหาส่วนใหญ่บันทึกในรูปแบบคลิปวิดีโอ และผู้เรียนสามารถย้อนกลับไปดู ไปฟังกี่รอบก็ได้

มหาวิทยาลัยไซเบอร์มีหลักสูตรให้เลือกเรียนอยู่ 4 หลักสูตรได้แก่ หลักสูตรการเรียนตามอัธยาศัย หมายถึงการเรียนเพื่อเอาแค่ความรู้ใส่ตัวเพียงอย่างเดียวไม่ต้องการใบประกาศรับรอง หลักสูตรนี้ผู้เรียนจะสามารถค้นคว้าหาความรู้จากหลักสูตรการเรียนทั้งระบบแบบไร้ข้อจำกัด

อีก 3 หลักสูตรที่เหลือ เป็นหลักสูตรที่ต้องแลกต้องหยาดเหงื่อแรงสมอง มีให้เลือกตั้งแต่หลักสูตรปริญญาตรี หลักสูตรปริญญาโท และหลักสูตรประกาศนียบัตร

ผู้ที่สนใจเรียนจะต้องติดต่อขอสมัครกับทางสถาบันที่เปิดหลักสูตร และทำการลงทะเบียนเรียนเหมือนกับการเรียนภาคปกติ รวมถึงเสียค่าเล่าเรียน เพียงแต่ไม่ต้องเดินทางมาเข้าห้องเรียนเหมือนนักศึกษาทั่วไป โดยห้องเรียนของพวกเขาอยู่ที่ www.thaicyberu.go.th

ระบบของมหาวิทยาลัยไซเบอร์อย่างพวกเครื่องแม่ข่าย (เซิร์ฟเวอร์) โปรแกรมบริหารการจัดการต่างๆ ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา โดยเปิดให้มหาวิทยาลัยที่ต้องการเผยแพร่เนื้อหาวิชาการมาร่วมพัฒนาหลักสูตรพื้นฐาน อาทิเช่น ภาษาอังกฤษพื้นฐาน เพื่อให้ผู้เรียนสามารถเลือกเรียนได้หลากหลาย และเข้าถึงได้สะดวก

การดำเนินโครงการมหาวิทยาลัยไซเบอร์ช่วงที่ผ่านมาถือว่าประสบความสำเร็จดี จากการเก็บข้อมูลเดือนกันยายนที่ผ่านมามีผู้ลงทะเบียนเป็นสมาชิกถึง 51,718 คน และไม่จำกัดเฉพาะมหาวิทยาลัยในประเทศเท่านั้น แต่ยังมีสถาบันอุดมศึกษาจากสหรัฐ ญี่ปุ่น และเกาหลี ร่วมพัฒนารูปแบบการเรียนการสอนทางไกลผ่านระบบเครือข่ายสารสนเทศต้นแบบมากถึง 16 หลักสูตร โดยมียอดลงทะเบียนเข้าเรียนถึง 82,331 บทเรียน

ปัจจุบันการเรียนออนไลน์ผ่านโครงการมหาวิทยาลัยไซเบอร์ มียอดผู้เข้าเรียนในหลักสูตรที่รับใบประกาศนียบัตรมากกว่า 2,000 คนแล้ว โดยประสิทธิภาพการทำงานหลังเรียนจบ เมื่อเปรียบกับนักศึกษาภาคปกติแล้ว ทัดเทียมหรือดีกว่า

ไม่เฉพาะแต่คนไทยเท่านั้นที่เรียนผ่านระบบมหาวิทยาลัยไซเบอร์ ได้ แต่ยังเปิดโอกาสให้ชาวต่างชาติที่อาศัยในต่างประเทศเข้ามาสมัครเรียนผ่านโครงการมหาวิทยาลัยไซเบอร์ได้เช่นกัน

“หลักสูตรการศึกษาทางไกลช่วยให้สถาบันอุดมศึกษาลดต้นทุนการจัดทำระบบอีเลิร์นนิ่งซ้ำซ้อน และไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายจ้างเจ้าหน้าที่มาดูแลระบบตลอดเวลา โดยทางสกอ. มีเจ้าหน้าที่ดูแลระบบและช่วยกันพัฒนาหลักสูตรโดยตรงถึงกว่า 20 คน” ผู้อำนวยการโครงการ กล่าว

นอกจากการพัฒนาบทเรียนออนไลน์สำหรับนักศึกษาระดับอุดมศึกษาแล้ว สกอ.ยังร่วมกับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จัดทำโครงการเตรียมความพร้อมวิชาพื้นฐานสำหรับนักศึกษามัธยมในพื้นที่เสี่ยงภาคใต้ 4 จังหวัด ได้แก่ สตูล ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส โดยมีเป้าหมายเพื่อขยายโอกาสทางการศึกษาโดยเฉพาะวิชาพื้นฐาน 6 รายวิชา ได้แก่ ฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา คณิตศาสตร์ ภาษาอังกฤษ และภาษาไทย ให้นักเรียนที่กำลังเรียนอยู่ระหว่างชั้นม.4-ม.6 ได้ศึกษาทั้งในรูปแบบการสอนทางไกลแบบเวลาจริง และรูปแบบสื่ออิเล็กทรอนิกส์

ผู้อำนวยการโครงการฯเล่าว่า การดำเนินการการสอนทางไกลแบบเวลาจริงมีนักเรียนจากโรงเรียนสามัญและโรงเรียนสอนศาสนาในพื้นที่เข้าร่วมโครงการทั้งสิ้น 1,080 คน โดยใช้ห้องประชุมราชพฤกษ์ ร.ร.มอ.วิทยานุสรณ์ เป็นห้องเรียนต้นทาง ถ่ายทอดความรู้ไปยังปลายทางอีก 7 ห้องเรียน ได้แก่ วิทยาลัยชุมชนปัตตานี วิทยาลัยชุมชนนราธิวาส วิทยาลัยชุมชนยะลา วิทยาลัยชุมชนสตูล มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา

มหาวิทยาลัยราชภัฏนราธิวาสราชนครินทร์ และมหาวิวทยาลัยสงขลานครินทร์ โดยแต่ละแห่งจะมีครูพี่เลี้ยงที่ดูแลระบบอยู่ด้วยแห่งละ 1 คน

สำหรับการจัดทำบทเรียนสื่ออิเล็กทรอนิกส์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ได้กำหนดเนื้อหาใน 6 รายวิชาไว้ วิชาละ 100 ชั่วโมง ประกอบด้วย เนื้อหา แบบฝึกหัด ข้อสอบ และแบบเฉลย โดยในส่วนเนื้อหาจะมีภาพ เสียง กราฟฟิก และภาพเคลื่อนไหวประกอบ เพื่อให้เนื้อหามีความน่าสนใจ และนักเรียนสามารถทำความเข้าใจได้ง่ายที่สุด

ข่าวดีสำหรับนักเรียนมัธยมปลาย สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษามีแผนพัฒนาบทเรียนออนไลน์สำหรับติวเข้มนักเรียนม.6 ก่อนสอบเอ็นทรานส์ เพื่อให้เด็กที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยภาคใต้ หรือพื้นที่ห่างไกลสามารถเรียนรู้อยู่กับที่ไม่ต้องเดินทาง

ไม่ใช่แค่ประหยัดค่าใช้จาย แต่ยังปลอดภัยกับชีวิตด้วย