Accessibility help

เมนูหลัก

การดูแลลูกในวัยประถม

การดูแลลูกในวัยประถม

โดย นายแพทย์สุรพงศ์ อำพันวงษ์

            เด็กในวัยประถมคือช่วงอายุ 6-12 ขวบ เป็นช่วงรอยต่ออีกช่วงหนึ่งที่มีความสำคัญโดยเฉพาะในช่วงยาเสพติดกำลังระบาด ช่วงวัยประถมนี้เป็นช่วงที่เด็กจะต้องเข้าสู่โรงเรียนในชั้นเรียนระดับประถมศึกษาตอนต้น และประถมศึกษาตอนปลายเป็นส่วนใหญ่ ในช่วงปีสุดท้ายเด็กบางคนอาจเริ่มเข้าสู่วัยที่เด็กออกสู่สังคมนอกบ้านอย่างจริงจัง โดยไปโรงเรียนเต็มเวลาที่ระบบการศึกษาได้จัดไว้ คือไปโรงเรียนตั้งแต่เช้าถึงบ่ายหรือเย็น จึงกลับเข้าสังคมในบ้านอีกครั้งหนึ่ง เป็นวัยที่เด็กจะเรียนรู้การปรับตัวในด้านต่างๆ ทั้งด้านการเรียนการเข้ากับเพื่อน การเข้ากับครูและปรับตัวให้เข้ากับระบบสังคมโรงเรียน ซึ่งเป็นสังคมที่ใหญ่กว่าสังคมครอบครัวมาก สำหรับวัยนี้เด็กมีระดับพัฒนาการของร่างกายและจิตใจมากขึ้นแล้ว เด็กจะมีความพร้อมที่จะจากบ้านโดยไม่รู้สึกหวาดกลัวการพลัดพราก และเด็กได้พัฒนาความสามารถด้านความคิด ความจำ การใช้ภาษา การรับรู้ และการแสดงออกขึ้นมาอีกระดับหนึ่งที่จะออกไปสู่สังคมที่ปกป้องเด็กน้อยลง ให้ความช่วยเหลือน้อยลง เด็กต้องช่วยตัวเองมากขึ้น คือสังคมโรงเรียน ดังนั้นก่อนถึงวัยเรียนนี้เด็กต้องมีพัฒนาการก่อนหน้านี้ให้เหมาะสมตามอายุ เมื่อเข้าวัยเรียนจึงจะมีความพร้อมที่จะพัฒนาตนเองต่อไปได้ตามลำดับ

            ศาสตราจารย์ แพทย์หญิง นงพงา ลิ้มสุวรรณ จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ให้แนวคิดในการดูแลเด็กวัยประถมนี้ไว้หลายประการ

            ประการแรกคือ เรื่องที่ลูกจะต้องปรับตัวเมื่อไปโรงเรียน ซึ่งเป็นเรื่องที่ใหญ่พอสมควร เด็กบางคนต้องเปลี่ยนโรงเรียนเมื่อขึ้นชั้นประถมหนึ่ง เพราะโรงเรียนเดิมเป็นโรงเรียนอนุบาลเล็กๆเท่านั้น กรณีเช่นนี้ทำให้เด็กต้องเผชิญกับความเครียดหลายๆอย่างพร้อมกัน คือ ต้องพบกับคนแปลกหน้า ทุกคนแปลกหน้า ทั้งครู และเพื่อนที่มาพบกันเป็นครั้งแรก ยังไม่รู้จักใครเลย ถ้าลูกเป็นคนเข้ากับคนยาก เป็นคนขี้อาย หรือไม่มั่นใจในตัวเองพอประมาณ ลูกอาจเกิดปัญหาในการปรับตัว คือหาเพื่อนไม่ได้ ทำให้ไปโรงเรียนแล้วไม่สนุก เลยทำให้ไม่อยากไปโรงเรียน ตอนเช้าๆเด็กอาจจะอิดเอื้อนไม่อยากไป

            บางครั้งโรงเรียนมีขนาดใหญ่มาก มีเด็กรวมกันเป็นพันๆคน สถานที่กว้างใหญ่ ทำให้เด็กกังวลในการไปไหนมาไหนในโรงเรียน ถ้าครูไม่ช่วยกำกับดูแลเรื่องการใช้ชีวิตในโรงเรียนหรือช่วงเลิกเรียนตอนบ่าย เด็กอาจต้องซื้อน้ำและอาหารรับประทานเองระหว่างคอยพ่อแม่มารับ ถ้าพ่อแม่มารับช้าเมื่อคนอื่นกลับหมดแล้ว เด็กอาจจะเหงาและเครียดได้ พ่อแม่จึงควรพยายามรับลูกให้เร็วและตรงเวลาโดยเฉพาะระยะแรกๆของการไปโรงเรียนใหม่ๆ

            การเรียนในชั้นประถมจะต่างจากอนุบาลคือ มีการเรียนวิชาการเป็นชั่วโมงๆ เด็กต้องนั่งเรียนเป็นเวลานานๆ อาจรู้สึกเหนื่อยและเบื่อได้ อีกทั้งบางโรงเรียนให้การบ้านเด็กมากเกินไป พ่อแม่จึงควรใส่ใจดูแลช่วยเหลือเด็ก ถ้าคิดว่าลูกมีการบ้านมากเกินไป พ่อแม่ควรแบ่งเวลาช่วยเหลือเรื่องบทเรียนของลูก เช่น ช่วยตรวจการบ้านที่ลูกทำว่าถูกต้องหรือไม่ ช่วยลูกในการทบทวนบทเรียนวันละเล็กวันละน้อย สำหรับผู้เขียนเองตอนลูกอยู่ชั้นประถม จะใช้เวลาช่วงเช้าที่ไปถึงโรงเรียนช่วยตรวจการบ้านลูก หรืออ่านหนังสือกับลูกวันละ 15-30 นาที เพราะช่วงเช้าสมองของลูกยังสดชื่นอยู่ ไม่เหนื่อยล้าเหมือนช่วงเย็นหรือช่วงค่ำ พ่อแม่ต้องช่วยลูกในการปรับตัวด้านอื่นๆเช่น ลูกไม่เข้าใจบทเรียนแล้วไม่กล้าถามครู ลูกจดงานไม่ทันแล้วไม่รู้จักขอดูจากเพื่อน พ่อแม่สามารถให้คำแนะนำในการแก้ปัญหาเหล่านี้  บางครั้งลูกถูกเพื่อนล้อเลียนเรื่องต่างๆตามประสาเด็กๆ ลูกอาจไม่รู้จะโต้ตอบอย่างไร หรือไปถือเป็นเรื่องจริงจังมากเกินไป ซึ่งพ่อแม่อาจช่วยแนะนำว่า เป็นการเล่นกัน เพื่อนเขาล้อเราเล่น ก็ล้อเขาเล่นบ้างก็ได้ หรือจะเฉยๆไปก็ได้ เป็นเพื่อนกันไม่เป็นไร บางครั้งอาจมีเด็กเกเรบางคนที่คอยรังแกเด็กทุกๆคน เด็กไม่รู้จะทำอย่างไร เพราะจะโดนรังแกตอนครูไม่อยู่แล้ว และถูกข่มขู่ว่าถ้าฟ้องครูจะโดนรังแกมากขึ้น ผู้ใหญ่คงต้องช่วยโดยการไปปรึกษาครูให้แก้ปัญหาเด็กเกเร

            ประการที่ 2 ที่ ศาสตราจารย์แพทย์หญิงนงพงา ลิ้มสุวรรณ ได้เน้นก็คือการเล่นกับเพื่อน ซึ่งนับว่าเป็นเรื่องสำคัญสำหรับเด็ก เด็กวัยนี้จะชอบเล่นกับเพื่อนเพศเดียวกัน คือ เด็กหญิงจะเล่นกับเพื่อนผู้หญิง เด็กชายมักอยากจะเล่นกับเพื่อนผู้ชาย แต่ทั้งเด็กหญิงและเด็กชายยังคงเล่นด้วยกันได้ในบางเรื่อง เด็กผู้หญิงบางครั้งจะรำคาญเด็กผู้ชายที่เล่นแรง เสียงดังซนกว่า เช่น พอครูไม่อยู่ในห้องก็เอะอะกันใหญ่ วิ่งไล่กัน กระโดดบนโต๊ะเรียน ปากระดาษข้ามหัวไปมาเป็นต้น แต่ถึงอย่างไรทั้งสองเพศยังสามารถเป็นเพื่อนกันได้ดี โดยผู้ใหญ่ควรสนับสนุนให้ยอมรับซึ่งกันและกัน ผู้ใหญ่ไม่ควรพูดให้เด็กมีทัศนคติที่ไม่ดีต่ออีกเพศหนึ่ง ตัวอย่างเช่น ลูกสาวอาจมาบ่นกับพ่อแม่ว่า เด็กผู้ชายน่าเบื่อน่ารำคาญอย่างไรบ้าง พ่อแม่ก็ควรพูดว่า “ เด็กผู้ชายเขาก็ซนแบบนี้แหละ เขามีแรงมาก ถ้าเด็กผู้หญิงมีเรื่องต้องใช้แรงก็วานเขาช่วยได้ เช่น ยกโต๊ะ ยกสมุดเป็นตั้งๆไง” พ่อแม่ไม่ควรพูดว่า “พวกเด็กผู้ชายนี้ไม่ไหวเลยซนยังกับลิง หนูก็อย่าไปยุ่งกับเขาแล้วกัน”

            เด็กวัยเรียนนี้จะสามารถแยกแยะได้ระหว่างเรื่องเล่นกับเรื่องเรียน รู้ว่าเรื่องเรียนเป็นงาน พ่อแม่จึงควรช่วยให้ลูกสามารถสนุกกับการเรียน ซึ่งจะเป็นการสอนให้เขารู้จักสนุกสนานกับการทำงาน เช่น ช่วยเขาค้นหาข้อมูลในการทำรายงาน ให้รู้สึกสนุกว่าทำให้รู้อะไรแปลกใหม่ขึ้น หรือช่วยคิดว่าจะทำรายงานอย่างไร ให้สวยมองแล้วมีความสุข รู้สึกอยากทำ พ่อแม่ไม่ควรให้ลูกเรียนมากจนเกินไป จนกลายเป็นความเครียด แล้วทำให้เด็กเบื่อการเรียนไปเลย เพราะบางครั้งพบว่าพ่อแม่บางคนให้ลูกเรียนพิเศษตอนเย็นทุกวัน แล้วเสาร์อาทิตย์ก็ยังเรียนอีก ทำให้สมองเด็กล้าไปหมด ผลการเรียนแทนที่จะดีกลับยิ่งไม่ดี นอกจากนั้นการมุ่งแต่เรื่องเรียนอย่างเดียวทำให้เด็กขาดโอกาสที่จะมีประสบการณ์ด้านอื่นๆ โดยเฉพาะทักษะการเข้าสังคม เพราะไม่มีเวลาจะเล่นกับเพื่อน ไม่มีเวลาจะทำกิจกรรมของโรงเรียน  ไม่มีเวลาจะเล่นกีฬาหรือดนตรี หรือสิ่งอื่นๆ การไปโรงเรียนของเด็กจึงไม่ใช่ให้เด็กไปเรียนหนังสืออย่างเดียว เด็กต้องไปเรียนรู้ด้านอื่นๆ ต้องเล่นกับเพื่อน ต้องหัดเข้ากับคนอื่นให้ได้ มีเพื่อนมากๆ มีประสบการณ์ในการคิดแก้ปัญหาต่างๆในชีวิตประจำวันได้ เช่น ถ้าบังเอิญเจอครูดุก็สามารถปรับตัวได้ หรืออย่างน้อยต้องรู้จักมาปรึกษาพ่อแม่ให้ช่วยคิดหาทางแก้ปัญหา

            ถ้าลูกเจอครูดุแล้วมาปรึกษาพ่อแม่ พ่อแม่ควรปลอบใจลูกให้กำลังใจลูก เพราะต้องเห็นใจว่าลูกยังเป็นเด็กอยู่ ย่อมรู้สึกกลัวผู้ใหญ่ที่ตัวโตกว่า มีอำนาจมากกว่า พ่อแม่ควรบอกลูกว่า “ถ้าเราไม่ทำอะไรผิดครูเขาจะไม่มีโอกาสมาดุลูก เวลาครูดุเพื่อนคนอื่นๆหนูคงต้องทำเฉยๆ และถ้ามีอะไรช่วยเพื่อนไม่ให้ถูกดุครั้งต่อไปก็ช่วย อีกอย่างหนูจะเจอครูคนนี้ชั่วคราว ขึ้นชั้นใหม่คงไม่เจอครูคนนี้อีก”

            ท้ายสุด ศาสตราจารย์แพทย์หญิงนงพงา ลิ้มสุวรรณ ได้ให้แนวคิดไว้ว่าพ่อแม่ผู้ปกครองควรส่งเสริมให้ลูกพัฒนาตนเองให้เต็มศักยภาพของเขา ลูกแต่ละคนจะมีความแตกต่าง มีความชอบ มีความสนใจ มีความถนัดที่แตกต่างกันไปตามธรรมชาติที่เขาเกิดมา แม้จะเกิดมาจากพ่อแม่เดียวกันก็ตาม เด็กจะมีความสามารถเฉพาะตัวของเขา ผู้ใหญ่จะต้องปล่อยให้เขาแสดงตัวของเขาเองออกมา เหมือนดอกไม้จะบาน ต้องปล่อยให้บานเต็มที่ อย่าขัดขวางขบวนการธรรมชาติ แต่ควรช่วยส่งเสริม ช่วยรดน้ำพรวนดิน ใส่ปุ๋ยและระวังแมลง เป็นต้น

            ลูกของเราก็เช่นกัน พ่อแม่ควรส่งเสริมไปในทางที่เขาถนัดและที่เขามีความสามารถ เขาจะได้พัฒนาความสามารถในตัวเขาให้เต็มที่ เขาจะมีความสุข ในสิ่งที่เขาจะเป็น และในสิ่งที่เขาจะทำต่อๆไป พ่อแม่ยังควรจะต้องหาทางส่งเสริมลูกให้ได้รับทั้งอาหารใจที่ลูกควรได้ และติดตามป้องกันจุดผลิกผันต่างๆที่ควรระมัดระวังในแต่ละวัย ของลูกตลอดจนเรื่องที่พ่อแม่ควรได้ทำและเรื่องที่พ่อแม่ไม่ควรทำดังที่ได้นำเสนอไว้แล้วข้างต้น

            การไปโรงเรียนไม่ใช่ไปเรียนหนังสืออย่างเดียว เด็กจะต้องสนุกกับการเรียนรู้และสนุกกับการเข้าสังคมด้วย

________________________________________
ขอบคุณข้อมูล http://www.clinicdek.com/index.php?option=com_content&task=view&id=340&Itemid=26