Accessibility help

เมนูหลัก

หลักการเรื่องการออม ตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง

หลักการเรื่องการออม ตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง

เรื่องปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

    ประเทศไทยเรานั้น เป็นประเทศที่อุดมสมบูรณ์ด้วยทรัพยากรธรรมชาติ คือ มี ทะเล มีภูเขา มีป่า มีพืช มีสัตว์นานาชนิด เราพูดรวมๆ ว่า ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว โดยเฉพาะภาคใต้ของเรามีครบทุกอย่าง เราจึงไม่เดือดร้อนในการแสวงหาปัจจัย 4 มาบำรุงชีวิตของเราเลยอยากกินปลาก็

หากินได้ ใกล้ๆ บ้าน อยากกินผักกินพืชก็มีให้กิน เจ็บป่วยเราก็มียาสมุนไพร ยามไข้ใจเราก็มี พระคอยช่วยเหลือ คอยให้ทั้งสติและปัญญา สอนให้เรามีศีลมีธรรม ไม่เป็นคนประมาทขาดสติ
แต่มาบัดนี้ วันนี้ สิ่งที่ว่าข้างต้นนั้นได้สูญหายไป เกือบจะหมดสิ้น จะเหลือก็เฉพาะความทรงจำของคนสูงอายุ อนุชนคนรุ่นหลังของเราไม่มีโอกาสได้สัมผัสบรรยากาศดังกล่าวอีกต่อไป เราถูกสอนให้เข้าใจว่านี้คือความเจริญ คือ มีถนนหนทาง เต็มไปหมด มีรถวิ่งจนคนไม่มีที่เดิน มีร้านขายของ 24 ชั่วโมง มีอะไรต่ออะไรเต็มไปหมด แต่ที่เราขาด คือ ความอยู่ดีมีสุข เราต้องอยู่ร้อน นอนทุกข์กับเรื่องต่าง ๆ มากมาย
    ทั้งหมดนี้เราได้ข้อสรุปแล้วว่า เพราะเราเสียรู้ลัทธิทุนนิยม ซึ่งเป็นระบบคิด ระบบรู้ ระบบทำของฝรั่งที่เราคิดว่าเขาเจริญกว่าเรา เราจึงเชื่อเขาเกือบทุกอย่าง เห็นเขาทำอะไรก็คิดว่าดีหมด เช่นฝรั่งนอนแก้ผ้า นุ่งน้อยห่มน้อย เราก็คิดว่าดี ฝรั่งแนะให้ทำโน่นทำนี้ เราก็ทำตามฝรั่งแนะให้เรา ขายดิน ขายน้ำ ถางป่า ขุดภูเขา เราก็ทำ เพื่อให้ได้สิ่งที่เรียกว่า เงิน ก็เป็นอันพอ...แต่ในที่สุดทรัพยากรธรรมชาติทุกประเภทก็ถูกดูด เข้าท้องฝรั่งเกือบหมด แม้แต่ลูกหลานของเราก็ไปเป็นคนรับใช้พวกเขา เด็กสมองดีทั้งหลายถูกดูดเข้าเมือง เข้ากรุงเทพ และเลยไปเมืองนอก ไปทำงานอยู่กับฝรั่ง กลับบ้านไม่ถูก ผลคือ ชุมชนเราขาดคนดูแล คนที่อยู่ในชุมชนก็อ่อนแอช่วยตนเอง ช่วยกันเองได้ยาก หรือไม่ได้ จึงเกิดปัญหาสารพัดตามมา
    ด้วยสายพระเนตรอันยาวไกล พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเห็นภัยคุกคามที่ว่านี้ จึงได้ทรงคิดค้นหาวิธีการแก้ไข และในที่สุดก็ทรงค้นพบและบอกให้ประชาชนคนไทยได้เรียนรู้และปฏิบัติตาม เพื่อกู้และแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ในสังคมของเรา
    ข้อค้นพบที่ว่านั้น เมื่อนำมาสรุปรวมแล้ว เรียกว่า "ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง" คือ วิธีรู้ วิธีคิด และวิธีปฏิบัติเพื่อพัฒนาตนของทุกคน ทุกอาชีพ ทุกชุมชน เพื่อความอยู่ดีมีสุขร่วมกันของทุกคน เรียกคืนความดีงามที่เราเคยมีอยู่กลับมาและค้นหาทางเดินที่ถูกต้องกันใหม่ โดยการศึกษาให้มีความรู้จริงในสิ่งที่มี สิ่งที่ทำ ให้มีคุณธรรม คือ ความขยัน อดทน ซื่อสัตย์ สุจริต มีความรู้ ความคิด และการกระทำที่พอประมาน พอดี มีเหตุมีผล มีการระวังตน ไม่ประมาท รู้จักระวังภัยในชีวิต   การรู้ การคิด และการกระทำลักษณะนี้แหละเรียกว่า การปฏิบัติตามปรัชญาความคิดเศรษฐกิจพอเพียง

หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ที่ผู้รู้ทั้งหลายนำมาพูดมาสอนกันขณะนี้มีโดยสรุปดังนี้

    1. ให้ทุกคน ทุกชุมชนดำเนินชีวิตไปในทางสายกลาง ซึ่งเป็นแนวทางที่ปราชญ์ทั้งปลาย เขาสอนกันมานาน เช่น พระพุทธเจ้าก็สอนเรื่องนี้ที่เรียกว่า มัชฌิมาปฏิปทาหรือ มัชเฌนธรรม คือ มรรคมีองค์ 8 มีสัมมาทิฐิ คือ ความเห็นถูกเห็นชอบ เป็นต้น
    2. หลักการของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง คือ ความพอประมาณ พอดี ความมีเหตุผล ความมีภูมิคุ้มกัน ผลกระทบทั้งจากภายนอกและภายใน
    3. เป้าประสงค์ คือ ให้เกิดความสมดุล และพร้อมต่อการรองรับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและกว้างขวาง ทั้งด้านวัตถุ สังคม สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรมจากภายนอกได้เป็นอย่างดี
    4. เงื่อนไข โดย 1) จะต้องเสริมสร้างพื้นฐานจิตใจของคนในชาติ โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ของรัฐ นักทฤษฎีและนักธุรกิจให้มีสำนึกในคุณธรรมความซื่อสัตย์สุจริต และให้มีความรอบรู้ที่เหมาะสม 2) ดำเนินชีวิตด้วยความอดทนมีความเพียร มีสติ และความรอบคอบ 3) จะต้องอาศัยความรู้ ความรอบคอบ และความระมัดระวังอย่างยิ่งในการนำวิชาการต่าง ๆ มาใช้ในการวางแผน และดำเนินการทุกขั้นตอน

เรื่องการออม
การออมคืออะไร
    คำศัพท์ ในพจนานุกรมฉบับบัณฑิตยสถาน พุทธศักราช 2525 ให้นิยามไว้ว่า  ออม ก. ประหยัด เก็บหอมรอบริบ, เช่น ออมทรัพย์; ถนอม, สงวน, เช่น ออมแรง จากความหมายนี้ แสดงว่า การออม คือ การประหยัด การเก็บหอมรอบริบ การถนอม และการสงวน สิ่งที่จะประหยัด หรือเก็บหอมรอบริบ ได้แก่ ทรัพย์สินเงินทอง

    ฉะนั้น การออม จึงมีความหมายกว้าง คือหมายถึง การใช้สิ่งมีค่ามีคุณทั้งหลายอย่างระมัดระวัง อย่างไม่ประมาท อย่างมีเหตุมีผล ทั้งในตนและนอกตน คือ ตนเอง ชีวิตของตนเองซึ่ง แต่ละคนจะต้องถือว่า มีความหมายสูงสุด สำคัญสูงสุด จึงต้องรู้จักตระหนักถึงคุณค่าของชีวิต ไม่ปล่อยปละละเลยให้ ตกต่ำให้ไร้ค่า พยายามรักษาและพัฒนาให้เจริญให้ได้ ในขณะเดียวกัน ทรัพย์สินเงินทอง ข้าวของต่าง ๆ ที่เป็นปัจจัยในการดำรงชีพ ก็ต้องให้ความสำคัญ ต้องรู้จักเก็บรู้จักใช้ ไม่ปล่อยปละละเลย ไม่ตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ ไม่โค่นป่าเพื่อหานก เป็นต้น
    จะเห็นได้ว่า การออมมิได้มุ่งที่ออมเงินอย่างเดียว แต่หมายถึง การออมชีวิตตนเอง และปัจจัยในการดำรงชีพทุกอย่าง
    การออม ในเบื้องต้น เป็นเรื่องของคน คือ จุดเริ่มต้นจะเกิดที่คน การออมจะเกิดได้ก็เพราะคนได้รับการศึกษาเรียนรู้ มีครู คือ พ่อแม่ เป็นต้น เป็นผู้แนะนำสั่งสอน ให้ความสำคัญ ความจำเป็น และผลหรือคุณประโยชน์ที่เกิดจากการออม เมื่อโตขึ้นก็คิดได้เอง ทำได้เอง และสอนผู้อื่นต่อไป การออมจึงเป็นเรื่องของการศึกษา การพัฒนาชีวิตของคนลักษณะหนึ่ง คือ การฝึกให้รู้ ให้คิด และให้ทำในสิ่งดีมีประโยชน์
    การออมชีวิต ออมเงิน ออมทรัพยากรธรรมชาติมีป่าไม้ แหล่งน้ำ แหล่งดิน ก็ต้องเริ่มต้นที่การเรียนรู้ การคิดและการปฏิบัติเช่นเดียวกัน

 

การออมให้คุณประโยชน์แก่เราอย่างไรบ้าง?

    กล่าวโดยรวมการออมให้ประโยชน์ต่อการดำรงชีวิตและการพัฒนาชีวิตของเรา ไม่ว่าจะเป็นการ ออมเงินและออมทรัพยากรอื่น รวมทั้งการออมชีวิต  หากจะแยกให้เห็นเป็นเรื่อง ๆ ก็แยกได้ดังนี้
    1) ด้านเศรษฐกิจ เศรษฐกิจ แปลว่า กิจที่ประเสริฐ คือ เป็นกิจที่ช่วยให้ชีวิตดำรงอยู่และเปิดโอกาสให้คนได้พัฒนาชีวิตคนให้เจริญ ให้สูงขึ้นได้ การประกอบอาชีพ เช่น การปลูกพืชผัก เพื่อบริโภค เพื่อแจกจ่ายแก่เพื่อนบ้าน หรือเพื่อจำหน่ายให้ได้เงินมา เพื่อนำไปแลกกับปัจจัยด้านอื่น เช่น ยารักษาโรค ที่อยู่อาศัย เครื่องนุ่งห่ม ยานพาหนะ เป็นต้น เรียกกันว่า เป็นเรื่องกิจกรรมด้านเศรษฐกิจ คือ เรื่องการผลิต การแจกจ่าย และการบริโภค เงินเป็นตัวกลางของการแลกเปลี่ยน หรือซื้อขายปัจจัยทั้งหลาย จึงมีความสำคัญต่อการดำรงชีพสูงมาก โดยเฉพาะปัจจุบัน การจะมีเงินได้ก็เป็นเรื่องยาก ดังนั้น เมื่อได้มาก็ต้องรู้จักประหยัดรู้จักออม เพื่อแลกเปลี่ยนสิ่งของปัจจัยในการดำรงชีพต่อไป
     2) ด้านสังคม ในกระบวนการออม ถ้ารวมกลุ่มการออมตั้งแต่ระดับครอบครัว ชุมชน หมู่บ้าน ตำบล ถึงจังหวัด ที่ปฏิบัติกันอยู่ขณะนี้ เห็นได้ชัดว่า มีผลดีด้านสังคม คือ เป็นกิจกรรมส่งเสริมความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างกัน ให้คนคิดถึงกัน เอื้ออาทรต่อกัน หรือรักกันมากขึ้น อย่างกรณีการออมสัจจะลดรายจ่ายวันละ 1 บาท เป็นเครื่องมือให้คนที่เป็นสมาชิกคิด เอื้ออาทรต่อเพื่อนสมาชิก ต่อผู้ด้อยโอกาส ผู้พิการช่วยตัวเองไม่ได้ และได้มีส่วนช่วยเพื่อนตั้งแต่วันลืมตามาดูโลกจนถึงวันตาย ถ้าได้ปฏิบัติกันอย่างจริงจังก็จะช่วยเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับครอบครัว และชุมชนได้ทางหนึ่ง
    3) ด้านวัฒนธรรม กิจกรรมที่คนส่วนใหญ่ถือปฏิบัติกันอย่างแพร่หลาย มีสาระทั้งที่เป็นความรู้ ความคิด การปฏิบัติที่มีแบบแผนแน่นอน และทำอย่างต่อเนื่อง และให้ผลเป็นความดีแก่ผู้ปฏิบัติ เราจัดว่าเป็นวัฒนธรรม พฤติกรรมการออม กิจกรรมการออม ผลการออมมีลักษณะเช่นว่านี้ จึงจัดว่าเป็นวัฒนธรรมสำคัญของชุมชนได้อย่างหนึ่ง ถ้าได้ปฏิบัติกันอย่างจริงจังตลอดไป เพราะเนื้อในของการออม นั้นมีองค์ประกอบของความเป็นวัฒนธรรมครบถ้วน คือ มีทั้งองค์ความรู้ วิธีปฏิบัติ และผลการปฏิบัติที่ชัดเจน ให้ประโยชน์แก่ผู้ปฏิบัติดีได้ทั้ง 4 ด้าน คือ ด้านกาย ด้านสังคม ด้านใจ และด้านจิตวิญญาณ
    4) ด้านการศึกษา ภาพรวมทางกระบวนการการออมเป็นเรื่องของการเรียนรู้ การฝึกตนเอง ผู้ทำการออม หรือเป็นสมาชิกกลุ่มเพื่อออมเพราะต้องรู้หลักคิด หลักการและหลักปฏิบัติ ตลอดถึงผลลัพธ์ที่พึงได้พึงมี การที่ทุกคนเดินเข้าสู่กระบวนการนี้ได้ชื่อว่า เดินเข้าสู่กระบวนการทางการศึกษา เพื่อพัฒนาตนเอง ดังได้กล่าวแล้วในตอนต้น ผู้เข้าร่วมกิจกรรมนี้ อย่างตั้งใจจะเรียนรู้ก็จะได้รับประโยชน์ส่วนนี้อย่างครบถ้วน โดยไม่รู้ตัว และจะพบว่าตนเองเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น ทั้งด้านการรู้ การคิด การพูด และการทำ
    5) ด้านทรัพยากรธรรมชาติแวดล้อม ดิน น้ำ ป่า เขา สัตว์ พืชที่เราได้เห็น อยู่รอบ ๆ ตัวเรา บ้านเรา ชุมชนเรา คือ ชีวิตเรา เพราะว่า เราต้องอาศัยดิน น้ำ ป่า เขา พืช สัตว์เหล่านั้น จึงมีชีวิตอยู่ได้ ดินหด น้ำแห้ง ฝนแล้ง ป่าถูกเผา ภูเขาพัง สัตว์ล้มตายด้วยโรคบางชนิด ภาวะเช่นนี้ คือ สัญญาณเตือนภัยอันใหญ่หลวง ได้เกิดขึ้นแก่มนุษย์แล้ว เพราะเราเป็น อยู่ได้ พัฒนาได้ ก็โดยอาศัยสิ่งเหล่านี้ การพูดถึงการออมทรัพย์สินหรือทรัพยากรธรรมชาติ จึงเป็นเรื่องใหญ่ยิ่งเท่ากับออมชีวิต เงินทองจะมีความหมายก็เมื่อมีสิ่งนี้ เมื่อไม่มีสิ่งนี้ เงินทองก็หมดความหมาย กลายเป็นเศษกระดาษ เศษโลหะที่กินไม่ได้ ช่วยชีวิตมนุษย์ไม่ได้เลย การใช้เงินเพื่อจัดการทรัพยากรให้คงอยู่ในภาวะปกติ จึงเป็นเรื่องต้องคิดต้องทำ
    6) ด้านการพัฒนาชีวิต การออมเป็นเรื่องการรู้ การคิด และ การทำ การออมที่เริ่มด้วยการเรียนรู้เรื่องสัจจะ คือ ความจริงที่รู้ ที่คิด ที่พูด ที่ทำ ของตนเอง ว่าจะต้องพูดจริง ทำจริง คิดจริง และรู้จริงนั้น นับเป็นการเรียนรู้เพื่อรู้จักตนเอง รู้จักความสัมพันธ์ระหว่างคนกับผู้คนในครอบครัว ในชุมชน เป็นต้น โดยเฉพาะคนในครอบครัว มีภรรยา หรือสามี และลูก ๆ รวมปู่ยาตายาย ถ้าคนในครอบครัวรู้จักสัจจะ คือ ความซื่อสัตย์ ซื่อตรง จริงใจ จริงวาจา จริงการทำต่อกัน รู้จักข่มใจในบางโอกาสบางกรณี รู้จักอดทนอดกลั้น รู้จักสละสิ่งของให้แก่กัน และรู้จักสลัดอารมณ์มัวหมอง เป็นตน ก็มีคุณต่อชีวิตของคนในครอบครัว อย่างมากมายแล้ว ยิ่งไปกว่านั้น ถ้าได้ศึกษาให้ลึกลงไปในสัจจะของชีวิตทั้งที่ตนเอง ผู้อื่น สิ่งอื่น รอบ ๆ ตัวอีกด้วยแล้ว ก็จะยังเพิ่มคุณประโยชน์ให้อีกมากมาย จนถึงขั้นเข้าใจสัจธรรม ทั้งที่ตนเองผู้อื่น และสิ่งอื่น ก็ถือว่า ถึงขั้นสุดยอด ของการพัฒนาชีวิตแล้ว


เรื่องการทำบัญชีครัวเรือน

    การทำบัญชีเป็นกิจกรรมเรียนรู้อย่างหนึ่ง  การทำบัญชี จึงเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเรียนรู้ การศึกษา การฝึกตน เพื่อให้เกิดการปฏิบัติพัฒนาความรู้ ความคิด และการปฏิบัติที่ถูกต้อง ก่อความเจริญทั้งในด้านอาชีพหรือเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม เป็นต้นได้
การทำบัญชี คือ การจดบันทึก ข้อมูลเกี่ยวกับเงื่อนไขปัจจัยในการดำรงชีวิตของเรา ในครอบครัวของเรา ชุมชนของเรา และประเทศของเรา
     ข้อมูลที่ได้จากการบันทึกจะเป็นตัวบ่งชี้อดีตปัจจุบันและอนาคตของชีวิตเรา เราสามารถนำข้อมูลอดีตมาบอกปัจจุบันและอนาคตของเราได้ ข้อมูลที่ได้ที่บันทึกไว้ จะเป็นประโยชน์ต่อการวางแผนชีวิตและกิจกรรมต่าง ๆ ในชีวิต ในครอบครัว ในชุมชน ในประเทศของเราได้
    บัญชีครัวเรือน มิได้หมายถึง การทำบัญชีหรือบันทึกรายรับรายจ่ายประจำวันเท่านั้น แต่อาจหมายถึงการบันทึกข้อมูลด้านอื่น ๆ ในชีวิต ในครอบครัว เป็นต้น ของเราได้ด้วย เช่น บัญชีทรัพย์สิน พันธุ์พืช พันธุ์ไม้ ในบ้านเราในชุมชนเรา บัญชีความรู้ความคิดของเรา บัญชีผู้ทรงคุณ ผู้รู้ในชุมชนเรา บัญชีเด็กและเยาชนของเรา บัญชีภูมิปัญญาด้านต่าง ๆ ของเรา เป็นต้น หมายความว่า สิ่งหรือเรื่องราวต่าง ๆ ในชีวิตของเรา เราจดบันทึกได้ทุกเรื่อง ท่านลองคิดดูทีว่า ถ้าเราทำได้ ผลดีจะเกิดขึ้นกับตัวเรา ครอบครัวเรา ชุมชนเรา ประเทศเราได้มากแค่ไหน  ตัวเรา ครอบครัวเรา ชุมชนเรา...ประเทศเรา ก็จะเป็นคนเรียนรู้ ครอบครัวเรียนรู้ ชุมชนเรียนรู้ และประเทศเรียนรู้ การเรียนรู้เป็นที่มาของปัญญา ปัญญาเป็นที่มาของความเจริญทั้งกาย สังคม ใจ และจิตวิญญาณของมนุษย์

    จะเห็นว่า การทำบัญชี หรือการจดบันทึกนี้สำคัญยิ่งใหญ่ขนาดไหน  บุคคลสำคัญ? เช่น ท่านพุทธทาส ในหลวง สมเด็จพระเทพ เป็นต้น ล้วนเป็นนักบันทึกทั้งสิ้น
การบันทึก คือ การเขียน เมื่อมีการเขียนก็มีการคิด เมื่อมีการคิดก็ก่อปัญญา เมื่อเกิดปัญญา เราก็มองเห็นเหตุเห็นผล เมื่อเห็นเหตุเห็นผล เราก็จะคิดจะทำให้ถูกตามเหตุตามผล เมื่อทำ พูด คิด ได้ถูกเหตุถูกผล นั่นคือ ทางเจริญของเรา
    การทำบัญชีครัวเรือนในด้านเศรษฐกิจ หรือการบันทึกรายรับรายจ่ายที่ทางราชการพยายามส่งเสริมให้เราได้ทำกัน นั่น เป็นเรื่องการบันทึกรายรับรายจ่ายประจำวันประจำเดือนว่า เรามีรายรับจากอะไรบ้าง จำนวนเท่าใด มีรายจ่ายอะไรบ้าง จำนวนเท่าใด ในแต่ละวัน สัปดาห์ เดือน และ ปี เพื่อจะได้เห็นภาพรวมว่า เรารับเท่าใด จ่ายเท่าใด เหลือเท่าใด หรือเกิน คือ จ่ายเกินรับเท่าใด รายการใดจ่ายน้อยจ่ายมาก จำเป็นน้อยจำเป็นมาก จำเป็นน้อย อาจลดลง จ่ายเฉพาะที่จำเป็นมาก เช่น ซื้อกับข้าว ซื้อยา ซื้อเสื้อผ้า ซ่อมแซมบ้าน การศึกษา เป็นต้น เท่าใด ซื้อบุหรี่ ซื้อเหล้า เข้าบาร์ บ้าหวย เป็นต้น จำนวนเท่าใด เมื่อนำมาบวกลบคุณหารกันแล้วขาดดุลเกินดุลไปเท่าใด เมื่อเห็นตัวเลข เราก็อาจคิดได้ว่าไอ้สิ่งไม่จำเป็นนั้นมันก็จ่ายเยอะ ลดมันได้ไหม เลิกมันได้ไหม ถ้าไม่ลดไม่เลิกมันจะเกิดอะไร กับเรากับครอบครัวเรา กับประเทศเรา ถ้าคิดได้ ก็เท่ากับว่า รู้จักความเป็นคนได้พัฒนาตนเอง ให้เป็นคนมีเหตุมีผล เป็นคนรู้จักพอประมาณ เป็นคนรักตนเอง รักครอบครัว รักชุมชน และรักประเทศชาติมากขึ้น
จึงเห็นได้ว่า การทำบัญชีครัวเรือน ในเรื่องรายรับรายจ่ายก็ดี เรื่องอื่น ๆ ก็ดี ก็คือวิถีแห่งการเรียนรู้เพื่อพัฒนาชีวิต ตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง นั่นเอง

ที่มา
คอลัมน์ บทความจากเพื่อน 
เรื่อง การศึกษา คือ การพัฒนาชีวิต : กรณีการออม เศรษฐกิจพอเพียงและการทำบัญชีครัวเรือน
โดย : สุภาคย์ อินทองคง
เมื่อ : 19/04/2007
http://www.thaingo.org/writer/view.php?id=376

หมายเหตุ : บทความชิ้นนี้ปรับปรุงจากคำบรรยาย เรื่อง การศึกษากับการพัฒนาชีวิต : กรณีการออม ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และการทำบัญชีครัวเรีอน ในวันที่ 8 มีนาคม 2550 ณ ชุมชนบ้านพรุเตาะ ตำบลทุ่งใหญ่ และชุมชนน้ำน้อย ต.น้ำน้อย อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา โดยศูนย์บริการการศึกษานอกโรงเรียน อำเภอหาดใหญ่ เป็นผู้เชิญ เพื่อบรรยายแก่กลุ่มผู้นำชุมชนประมาณ 50 คน