Accessibility help

เมนูหลัก

เมื่ออายุขัยของคนไทยเฉลี่ยอยู่ที่ 70.3 ปี

 

คนเราเกิดมาไม่มีใครจะมีชีวิตเป็นอมตนิรันดรกาล การเกิดแก่ เจ็บ ตายเป็นวัฏจักรที่มนุษย์ไม่สามารถจะหนีพ้นความจริงนี้ได้ซึ่งกฎเกณฑ์ธรรมชาติเช่นนี้ได้มีมานานหลายภพหลายชาติแล้ว ดังนั้นสุดท้ายมนุษย์เราก็ต้องเลือกโรคภัยไข้เจ็บโรคใดโรคหนึ่งก่อนที่จะเสียชีวิตอยู่ดี

 

          เพียงแต่ว่ามนุษย์จะมีสติเพียงใดที่จะทำให้ชีวิตตัวเองอยู่อย่างมีความสุขมากที่สุดในทุกๆ วันที่ได้ในยามที่มีชีวิตอยู่ ทำความดีให้มากที่สุดเพื่อไม่ให้เสียชาติเกิด และไม่เสียชีวิตก่อนวัยอันควรต่างหาก

 
 
 
          หันมามองดูข้อมูลความเป็นไปของโลกใบนี้ว่ามนุษย์มีอายุยืนยาวเพียงไหน?
ปรากฏว่าองค์การสหประชาชาติได้จัดทำข้อมูลสำรวจอายุขัยของชนแต่ละชาติช่วงระหว่างปี พ.ศ. 2548-2553 จาก 194 ประเทศทั่วโลก พบตัวเลขที่น่าสนใจบางประการดังนี้
 
          10 อันดับแรกที่ประชากรของชนชาติที่มีอายุยืนมากที่สุดในโลกได้แก่ อันดับที่ 1 ได้แก่ ญี่ปุ่น มีอายุขัย เฉลี่ย 82.6 ปี,อันดับที่ 2 ได้แก่ ฮ่องกง มีอายุขัยเฉลี่ย 82.2 ปี, อันดับที่ 3 ได้แก่สวิตเซอร์แลนด์ มีอายุขัยเฉลี่ย 82.1 ปี, อันดับที่ 4 ได้แก่ อิสราเอลมีอายุขัยเฉลี่ย 82.0 ปี, อันดับที่ 5 ได้แก่ ไอซ์แลนด์ มีอายุขัยเฉลี่ย 81.8 ปี, อันดับที่ 6 ได้แก่ ออสเตรเลีย มีอายุขัยเฉลี่ย 81.2 ปี, อันดับที่ 7 สิงคโปร์ มีอายุขัยเฉลี่ย 81.0 ปี, อันดับที่ 8 ได้แก่สเปน มีอายุขัยเฉลี่ย 80.9 ปี, อันดับที่ 9 ได้แก่ สวีเดน มีอายุขัยเฉลี่ย 80.9 ปี และอันดับที่ 10 ได้แก่ มาเก๊า มีอายุขัยเฉลี่ย 80.7 ปี
 
          สำหรับประชากรในประเทศที่มีเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในโลกอย่างสหรัฐอเมริกามีเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ทันสมัยที่สุดในโลกและมีสวัสดิการดูแลประชากรของตัวเองเป็นอย่างดีนั้น พบว่า ชาวอเมริกันมีอายุเฉลี่ย 78.3 ปี อยู่ในลำดับที่ 36 ของโลก ในขณะที่ประชากรสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งมีขนาดเศรษฐกิจอันดับที่ 2 ของโลก มีอายุเฉลี่ย 73.0 ปี อยู่ในลำดับที่ 80 ของโลก
 
          สำหรับคนไทยมีอายุเฉลี่ยอยู่ลำดับที่ 111 ของโลก โดยมีอายุขัยเฉลี่ยอยู่ที่ 70.3 ปี โดยผู้ชายไทยมีอายุขัยเฉลี่ยอยู่ที่ 66.5 ปี และหญิงไทยมีอายุขัยเฉลี่ย 75.0 ปี
 
          สำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธาณสุข พบว่าในปี 2552 คนไทยเสียชีวิต 1 ปี ประมาณ 393,916 คน คิดเป็นอัตราการเสียชีวิต 620.76 คนต่อประชากร 100,000 คนโดยพบตัวเลขที่น่าสนใจดังนี้
 
          สาเหตุการเสียชีวิตของคนไทยมากที่สุดเป็นอันดับที่หนึ่งคือมะเร็งและเนื้องอกทุกชนิด ถึง 56,058 คน มีอัตราการเสียชีวิตของคนไทย 88.34 คนต่อประชากร 100,000 คน ซึ่งสูงขึ้นกว่าอัตราการตายเมื่อปี 2548 ที่มีอยู่ในระดับร้อยละ 81.4 คนต่อประชากร 100,000 คน หรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 14.17 ของสาเหตุการเสียชีวิตทั้งหมด
 
           อันดับที่สอง คืออุบัติเหตุและการเป็นพิษมีอัตราการเสียชีวิต55.63 คนต่อประชากร 100,000 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 8.96 ของสาเหตุการเสียชีวิตทั้งหมด
 
            อันดับที่สาม คือโรคหัวใจมีอัตราการเสียชีวิต 28.96 คนต่อประชากร 100,000 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 4.66 ของสาเหตุการเสียชีวิตทั้งหมด
 
            อันดับที่สี่ คือโรคความดันเลือดสูงและโรคหลอดเลือดในสมอง มีอัตราการเสียชีวิต 24.66 คน ต่อประชากร 100,000 คนหรือคิดเป็นร้อยละ 3.97 ของสาเหตุการเสียชีวิตทั้งหมด
 
            อันดับที่ห้า ปอดอักเสบและโรคอื่นๆ ของปอด มีอัตราการเสียชีวิต 22.92 คน ต่อประชากร 100,000 คน หรือคิดเป็นร้อยละ3.69 ของสาเหตุการเสียชีวิตทั้งหมด
 
            อันดับที่หก ไตอักเสบและกลุ่มอาการของไตพิการและไตพิการ มีอัตราการเสียชีวิต 20.79 คน ต่อประชากร 100,000 คนหรือคิดเป็นร้อยละ 3.34 ของสาเหตุการเสียชีวิตทั้งหมด
 
            อันดับที่เจ็ด โรคเกี่ยวกับตับและตับอ่อน มีอัตราการเสียชีวิต13.49 คนต่อประชากร 100,000 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 2.17 ของการเสียชีวิตทั้งหมด
 
            อันดับที่แปด การบาดเจ็บจากการฆ่าตัวตาย ถูกฆาตกรรมและอื่นๆ มีอัตราการเสียชีวิต 10.47 คน ต่อประชากร 100,000 คน หรือคิดเป็นอัตราร้อยละ 1.68 ของการเสียชีวิตทั้งหมด
 
             อันดับที่เก้า วัณโรคทุกชนิด มีอัตราการเสียชีวิต 7.20 คนต่อประชากร 100,000 คน หรือคิดเป็นอัตราร้อยละ 1.16 ของการเสียชีวิตทั้งหมด
 
             อันดับที่สิบ โรคภูมิคุ้มกันบกพร่องเรื่องจากไวรัส (HIV) หรือเอดส์ มีอัตราการเสียชีวิต 6.38 คน ต่อประชากร 100,000 คน หรือคิดเป็นอัตราร้อยละ 1.03
 
            ในบรรดาโรคร้ายทั้งหลายเหล่านี้ เป็นที่น่าสังเกตว่าโรคส่วนใหญ่จะมีเป็นอัตราการเสียชีวิตค่อนข้างทรงตัว ยกเว้นโรคมะเร็งและเนื้องอกทุกชนิด ซึ่งมีแนวโน้มเสียชีวิตสูงเพิ่มมากขึ้นทุกปีในขณะที่โรคเอดส์ก็มีอัตราการเสียชีวิตลดลงไปอย่างมากเช่นกัน
 
 
ที่มา: “เมื่ออายุขัยของคนไทยเฉลี่ยอยู่ที่ 70.3 ปี,” ผู้จัดการ (18 กุมภาพันธ์ 2555)