Accessibility help

เมนูหลัก

หลักสูตรการศึกษาแนวอนันตมรรคหรือแนวนีโอ-ฮิวแมนนิสต์

หลักสูตรการศึกษาแนวอนันตมรรคหรือแนวนีโอ-ฮิวแมนนิสต์

     ผู้ให้กำเนิดแนวคิด นี โอฮิวแมนนิสต์ หรือนวมนุษยธรรม คือ พี.อาร์ ซาการ์ ชาวอินเดีย มีแนวคิดแบบขยายจิตใจ ให้มีความรัก และเอาใจใส่ ดูแลทุกสิ่งทุกอย่างในจักรวาล รวมทั้งใช้ชีวิตอยู่อย่างกลมกลืนกับธรรมชาติ เป็นแนวคิดหนึ่งที่มีการนำมาประยุกต์ใช้อย่างสอดคล้อง กับพื้นฐานความเป็นไทย ระบบการศึกษาแบบนี้เป็นปรัชญาการศึกษาแบบตะวันออกที่เน้นความ เกี่ยวข้องเชื่อมโยงระหว่างมนุษย์กับสรรพสิ่ง เน้นให้เห็นถึงความรักเพื่อสิ่งที่ยิ่งใหญ่ เป้าหมายที่สำคัญประการหนึ่งคือ การถ่ายทอดความรู้สึกที่สวยงาม เต็มไปด้วยความรัก ความเมตตาสู่การดำเนินชีวิตโดยทั่วไป การศึกษาตามแนวคิดนี้เป็นการศึกษาที่มุ่งจะพัฒนา อัจฉริยภาพในตัวเด็กทุกคนให้ปรากฏออกมามากที่สุด โดยจะพัฒนาเด็กให้เป็นคนสมบูรณ์ทั้ง ร่างกายและจิตใจ ซึ่งเป็นการศึกษาเพื่อการพัฒนาคนให้สมบูรณ์ในทุกด้าน (Holistic Education) หลักการศึกษาแนวนีโอฮิวแมนนิสต์ คือปลุกความกระหายในความรู้ มีศีลธรรม จริยธรรม เป็นพื้นฐาน ปลุกสำนึกในจิตวิญญาณ เรียนรู้แบบบูรณาการ ปลูกฝังศิลปะ วรรณคดี ตระหนัก ในคุณค่าของวัฒนธรรมท้องถิ่นและวัฒนธรรมสากล ปลุกจิตสำนึกใหม่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม มีจิตใจของการให้บริการ พัฒนาจิตที่มีเหตุผลและจิตสำนึกร่วมกันในสังคม ครูคือคนสำคัญของการศึกษาแบบนีโอฮิวแมนนิสต์ โดยต้องเป็นแรงบันดาลใจ เป็นแบบอย่าง ที่ดี ปลูกฝังศีลธรรม จรรยา และปลุกความกระหายในการเรียนรู้ให้จิตใจเด็ก ครูแนวนี้ ต้องได้รับการฝึก 3 ส่วน คือ

1.  การพัฒนาบุคลิกภาพบนพื้นฐานต่อเนื่อง รวมถึงการปฏิบัติ ด้านจิตวิญญาณประจำวัน และเข้มงวดต่อศีลธรรมสากล
2. ได้รับการเรียนรู้ทฤษฎี และการปฏิบัติจริงในชีวิตเกี่ยวกับปรัชญาเกี่ยวข้องกับมนุษยชาติ ปรัชญาจิตวิทยา
3.  เรียนวิธีการและศึกษาความรู้ของการเป็นครู

เรียนแบบนีโอฮิวแมนนิสต์
การจัดกิจกรรมและประสบการณ์ในการศึกษาแบบนีโอฮิวแมนนิสต์ เริ่มจากทุกเช้าจะมีการพูดคุยเรื่องข่าวสารเหตุการณ์ต่างๆ และร้องเพลงร่วมกัน การฝึกโยคะ และการทำสมาธิ เรียนรู้เรื่องของคุณค่าชีวิตในด้านต่างๆ เช่น ความสงบ ความกล้าหาญ และความสนุกสนาน ผ่านการเล่นเกมส์
การออกสำรวจธรรมชาติจะเป็นส่วนหนึ่งในการเรียนรู้ เด็กนีโอฮิวแมนนิสต์จะได้ไปปีนเขา ไปเที่ยวสวนสัตว์ แม้แต่การสำรวจกองขยะ เพื่อเรียนรู้ที่จะนำเอาสิ่งของใช้แล้วมารีไซเคิล และมีโอกาสทำกิจกรรมข้างนอกโดยการร่วมงานค่าย งานเทศกาลในหมู่บ้าน ทัศนศึกษา เพื่อให้เกิดแรงเสริมต่อการเรียนรู้ เป็นรางวัลจากการค้นพบการเรียนรู้เอง
      นอกจากนี้จะมีกิจกรรมการเรียนรู้เกี่ยวกับหลักศีลธรรม และท่องจำเป็นประจำสม่ำเสมอ เด็กจะต้องสามารถอธิบาย แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับหลักศีลธรรม ประเมินผลการกระทำของตนเอง มีกิจกรรมการฝึกฝนการทำสมาธิโดยการชี้นำ การสร้างกระบวนการคิดทางบวก การสร้างภาพจินตนาการ และส่วนหนึ่งของกิจกรรมสงบประจำวัน เพื่อได้ใช้จินตนาการและการหยั่งรู้ในการสร้างสรรค์และการออกกำลังสมาธิ มีเวลาแห่งการสะท้อนถึงพัฒนาการของบุคลิกภาพด้านต่างๆ
       ในงานสวนเด็กๆ จะเรียนรู้เรื่องระบบนิเวศวิทยา ชีววิทยา วิทยาศาสตร์ การเกษตร และภูมิศาสตร์ โรงเรียนซึ่งก่อตั้งขึ้นในใจกลางของธรรมชาติจะช่วยปรับให้เด็กได้เข้าจังหวะกับธรรมชาติฤดูกาล และชีวิตความเป็นอยู่โดยรอบ เด็กๆ ทั้งกลุ่มจะไปดูแลต้นไม้ สัตว์ และสิ่งแวดล้อม
       การจัดการเรียนการสอนตามแนวคิดนีโอฮิวแมนนิสต์ จะต้องฝึกให้เด็กรู้จักมีระเบียบวินัย โดยอาศัยวิธีการต่างๆ คือ การให้รางวัล การคิดและพูดในสิ่งที่ดีเสมอ (Be positive) และเปลี่ยนแปลงการใช้พลังงานของเด็กจากการใช้พลังงานไปในทางที่ไม่ถูกต้องให้ไปใช้ในทางที่ดี
ครูคือคนสำคัญ
       ครูในการศึกษาแบบนีโอฮิวแมนนิสต์จะมีความสำคัญอย่างมาก เนื่องจากครูจะต้องเป็นแรงบันดาลใจและเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับเด็ก โดยจะต้องปลูกฝังศีลธรรมจรรยาที่ดีให้กับเด็กผ่านการประพฤติตนที่ดีของตนเอง จะต้องเป็นครูแบบที่ “ปลุกความกระหายในการเรียนรู้ให้กับจิตใจของเด็กๆ”
ครูแบบนีโอฮิวแมนนิสต์จะต้องเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับเด็กได้เลียนแบบและเลือกทำเฉพาะในสิ่งที่ต้องการให้เด็กทำเท่านั้น ครูต้องประณีตมีคุณสมบัติต่างๆ ที่ละเอียดอ่อนต่อมนุษยชาติ ครูต้องเป็นคนเข้มแข็ง ยืนหยัดในความถูกต้องการให้บริการสังคมอย่างไม่เห็นแก่ตัว มีบุคลิกภาพของการจูงใจและเป็นผู้นำ
      ครูต้องยกย่องให้กำลังใจเด็ก ให้แรงเสริมทางบวกกับเด็กที่มีความประพฤติดี ไม่ยกย่องชมเชยเด็กคนเดียวกันตลอดเวลา ไม่นำเด็กคนหนึ่งไปเปรียบเทียบกับเด็กอีกคนหนึ่ง ไม่สัญญากับเด็กในสิ่งที่ครูไม่สามารทำได้ ซึ่งครูจะต้องสอนโดยการให้ความรักและตัวอย่างที่ดีแก่เด็ก ไม่ใช้การดุด่าว่ากล่าวหรือตีโดยใช้อารมณ์
      การเป็นครูแนวนี้จะต้องได้รับการฝึกใน 3 ส่วน ส่วนแรกคือ การพัฒนาบุคลิกภาพบนพื้นฐานต่อเนื่อง รวมถึงการปฏิบัติด้านจิตวิญญาณประจำวัน และเข้มงวดต่อศีลธรรมสากล 16 ประการ ส่วนที่สอง ได้รับการเรียนรู้ทฤษฎีและการปฏิบัติจริงในชีวิตเกี่ยวกับปรัชญา เกี่ยวข้องกับมนุษยชาติ ปรัชญาจิตวิทยา และส่วนที่สาม เรียนวิธีการและศึกษาความรู้ของการเป็นครู
การฝึกครูให้เป็นครูตามแบบฉบับนีโอฮิวแมนนิสต์นี้เองที่นับเป็นความยากประการหนึ่ง ดร.เกียรติวรรณ อมาตยกุล แห่งโรงเรียนอมาตยกุล ซึ่งเรียกตนเองว่าเป็นโรงเรียนแนวนีโอฮิวแมนนิสต์ เคยให้สัมภาษณ์และยอมรับว่าการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมครูให้ยอมรับเด็กนี้เองเป็นสิ่งที่ยากที่สุด
การขาแคลนครูจึงเป็นปัญหาหนึ่งของโรงเรียนแนวนีโอฮิวแมนนิสต์ จึงทำให้การศึกษาแนวนี้ขยายตัวได้ไม่มากเท่าที่ควร ซึ่งขณะนี้มูลนิธินวมนุษยธรรม องค์กรที่ตั้งขึ้นเพื่อเผยแพร่แนวคิดดังกล่าว และเป็นศูนย์กลางการสร้างสรรค์งานอันเกิดประโยชน์ต่อสังคมกำลังจะมีโครงการฝึกอบรมครูตามแนวนีโอฮิวแมนนิสต์ในอนาคตอันใกล้นี้

นีโอฮิวแมนนิสต์ในเมืองไทย
       นอกเหนือจากโรงเรียนอมาตยกุลแล้ว ยังมีโครงการที่เน้นหนักการจัดการศึกษาบนแนวคิดดังกล่าวเช่นเดียวกัน ได้แก่ โครงการสวนเด็ก ที่สวนอานันดศยามะ อำเภอพะโต๊ะ จังหวัดชุมพร และโครงการบ้านอุ่นรัก จังหวัดกาญจนบุรี
       โครงการสวนเด็ก เป็นการจัดทำบ้านพักเด็กที่มีปัญหาและถูกทอดทิ้งเพื่อเปิดโอกาสให้เด็กเหล่านี้ได้รับการศึกษา ทั้งระดับประถม มัธยม ควบคู่ไปกับการทำกิจกรรมพิเศษ เช่น วิชาชีพเสริม การศึกษาแนวนีโอฮิวแมนนิสต์เน้นการพัฒนาจิตวิญญาณและการพัฒนาบุคลิกภาพอย่างรอบด้าน เพื่อให้เติบโตเป็นผู้ใหญ่อย่างเข้มแข็งมั่นคง และสามารถพึ่งตนเองได้ โครงการนี้เริ่มต้นรับเด็กมาจากมูลนิธิสร้างสรรค์เด็กและมูลนิธิคุ้มครองเด็ก เมื่อปลายปี 2537 ปัจจุบันมีเด็กในความดูแล 16 คน อายุระหว่าง 3-15 ปี การใช้ชีวิตที่นี่คำนึงถึง “จังหวะของวัน” เป็นพิเศษ เพื่อให้เด็กรู้สึกถึงความอบอุ่นและปลอดภัย ทุกๆ เช้าจะมีการเริ่มต้นวันใหม่ด้วยบทเพลงที่บ่งบอกความหมายอันยิ่งใหญ่ของความรัก จากนั้นเด็กๆ จะทำสมาธิร่วมกัน ฝึกโยคะและรับฟังเรื่องราวที่แฝงด้วยคุณธรรม
ภาคเช้า เป็นช่วงเวลาของการเรียนรู้ด้านวิชาการ มีการจัดแบ่งเด็กเป็นกลุ่มเล็กๆ สร้างบรรยากาศการเรียนการสอนที่อบอุ่น เน้นการกระตุ้นความกระหายใคร่รู้ให้เกิดขึ้นในจิตใจเป็นสำคัญ ภาคบ่าย เป็นกิจกรรมเลือกเสรี เช่น ศิลปะ ดนตรี ละคร ซึ่งจะส่งเสริมพัฒนาความสามารถอื่นๆ ในตัวเด็ก ระหว่างวันกิจกรรมของชีวิตจะเป็นไปท่ามกลางธรรมชาติที่งดงาม และความหลากหลายของสิ่งมีชีวิตที่เคลื่อนไหวอยู่รายรอบ ซึ่งจะช่วยปลอบโยนและเสริมสร้างความสัมพันธ์อันละเอียดอ่อนขึ้นในจิตใจเด็กอีกด้านหนึ่งของชีวิตประจำวันสำหรับเด็กที่นี่ คือ การเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกันตลอดเวลาในสภาพที่ต้องช่วยเหลือตัวเองทุกด้าน
       “การใช้ชีวิตแนวนีโอฮิวแมนนิสต์ทำให้เด็กมีความรับผิดชอบมากขึ้น รักธรรมชาติมากขึ้น มีความสนใจมากขึ้น และมีความขัดแย้งกระทบกระทั่งระหว่างกันน้อย” จินตนา ตั้งตรัยรัตนกุล หรือครูแมว แห่งโครงการสวนเด็ก หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งมูลนิธินวมนุษยธรรมในเมืองไทย กล่าว
       สำหรับโครงการบ้านอุ่นรักเป็นการจัดบริการที่อยู่อาศัย และให้โอกาสเด็กมีการศึกษาจากสถานศึกษาของรัฐ เด็กในโครงการล้วนมาจากครอบครัวยากจนแถบชายแดน มีทั้งเด็กกระเหรี่ยงและมอญ บรรยากาศการอยู่ร่วมกันในบ้านอุ่นรักก็เช่นเดียวกับวิถีชีวิตแบบนีโอฮิวแมนนิสต์ทั่วไป มีความรักใคร่เอาใจใส่ดูแลกันประดุจครอบครัวเดียวกัน คือมีการฝึกอบรมจิตใจ มีกิจกรรมหลากหลายที่จะพัฒนาเด็กและสอนให้เด็กตระหนักถึงคุณค่าแห่งความรักที่เป็นสากล โครงการนี้ตั้งอยู่อำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี ดำเนินงานมากว่า 18 ปี ปัจจุบันมีเด็กมากกว่า 30 คน
       ขณะนี้ทั้งโรงเรียนในโครงการสวนเด็กและโครงการบ้านอุ่นรัก ยังไม่ได้รับการรับรองจากกระทรวงศึกษาธิการ โดยเด็กจากทั้งสองแห่งต้องใช้วิธีสอบเทียบกับระบบการศึกษานอกโรงเรียน

ขอขอบคุณข้อมูลจาก :
-  การศึกษาแนวนีโอฮิวแมนนิสต์ "ความรักเพื่อสรรพสิ่งในจักรวาล"  วารสารสานปฏิรูป
ปีที่ 2 ฉบับที่ 14 เมษายน 2542  หน้า 15-17
- http://pasawat.multiply.com/