Accessibility help

เมนูหลัก

หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน

หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน

หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน

หลักการ

        เพื่อให้การจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานเป็นไปตามแนวนโยบายการจัดการศึกษา ของพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 จึงกำหนดหลักการของหลักสูตร  การศึกษาขั้นพื้นฐาน ไว้ดังนี้
                1. เสริมสร้างความเป็นเอกภาพของชาติไทย มุ่งเน้นความเป็นไทย ควบคู่กับความเป็นสากล
                2. เป็นการศึกษาเพื่อมวลชน ที่ประชาชนทุกคนจะได้รับการศึกษาอย่างเสมอภาคและเท่าเทียมกัน โดยสังคมทุกส่วนมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา
                3. ส่งเสริมให้ผู้เรียนได้พัฒนา และเรียนรู้ด้วยตนเองอย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต โดยถือว่าผู้เรียนมีความสำคัญที่สุดสามารถพัฒนาตามธรรมชาติ และเต็มตามศักยภาพ
                4. มีการกำหนดให้มีมาตรฐานการเรียนรู้ เมื่อจบการศึกษาขั้นพื้นฐาน และ มาตรฐานการเรียนรู้ระหว่างช่วงชั้นการศึกษา มีระบบการประกันคุณภาพการศึกษาภายในของสถานศึกษา และมีการทดสอบตามมาตรฐาน
                5. การจัดการเรียนรู้เน้นการบูรณาการตามความเหมาะสมของแต่ละระดับการศึกษา โดยให้มีความยืดหยุ่นในเรื่องการจัดสรรเวลาและยึดมาตรฐาน การเรียนรู้เป็นหลัก
                6. กำหนดให้สถานศึกษาขั้นพื้นฐานจัดทำหลักสูตรของสถานศึกษา ให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้เรียน ชุมชน สังคม และประเทศชาติ
                7. เป็นหลักสูตรที่จัดการศึกษาได้ทุกรูปแบบ ครอบคลุมทุกกลุ่มเป้าหมายสามารถเทียบโอนผลการเรียนรู้และประสบการณ์

จุดหมาย
        หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน มุ่งพัฒนาผู้เรียนให้เป็นคนดี มีปัญญา มีความสุขบนพื้นฐานความเป็นไทย โดยมุ่งปลูกฝังให้ผู้เรียนมีคุณลักษณะที่พึงประสงค์ ดังนี้
              1. มีคุณธรรม จริยธรรม และค่านิยมที่ดีงามในการดำเนินชีวิต ปฏิบัติตาม หลักธรรมของศาสนา มุ่งมั่นพัฒนาตนเองและสังคม ประกอบอาชีพสุจริต และ พึ่งตนเองได้
              2. มีความสามารถในการเรียนรู้ด้วยตนเอง รู้จักคิด ตัดสินใจและแก้ปัญหา อย่างรอบคอบมีเหตุผล มีความรู้อันเป็นสากล รู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงและความเจริญก้าวหน้าของวิทยาการต่างๆ มีความสามารถในการสื่อสาร การจัดการ และใช้เทคโนโลยีที่จำเป็น
              3. มีทักษะที่จำเป็นในการดำเนินชีวิต มีสุขภาพและบุคลิกภาพที่ดี มีสุนทรียภาพ มีความมั่นคงทางอารมณ์ และอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข
              4. มีความภูมิใจในความเป็นไทยและประวัติความเป็นมาของชาติไทย ยึดมั่น ในการปกครองตามระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ส่งเสริมศาสนา ศิลปะ วัฒนธรรมของชาติ การกีฬา และภูมิปัญญาไทย
              5. มีความรักท้องถิ่น ประเทศชาติ เห็นคุณค่าของประโยชน์ส่วนรวม มีจิตสำนึกในการอนุรักษ์ศิลปะ วัฒนธรรม ทรัพยากรธรรมชาติ พลังงาน และ สิ่งแวดล้อม

การจัดหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน
       หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน เป็นหลักสูตรที่กำหนดให้ใช้ในการจัดการศึกษา ตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 จนถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 สำหรับผู้เรียนทุกคน ทุกกลุ่มเป้าหมาย และทุกรูปแบบการศึกษา สำหรับการจัดการศึกษาปฐมวัย ได้จัดให้มีหลักสูตรไว้โดยเฉพาะ เพื่อเป็นการเตรียมผู้เรียนให้พร้อมในการเข้าเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน ประกอบด้วย หลักสูตรแกนกลางการศึกษา ขั้นพื้นฐาน และสาระของหลักสูตรที่สถานศึกษาจัดทำขึ้นในส่วนที่เกี่ยวกับ สภาพปัญหาในชุมชนและสังคมแต่ละท้องถิ่น

การจัดหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน มีแนวดำเนินการดังนี้

              1. จัดหลักสูตรต่อเนื่อง 12 ปี โดยจัดแบ่งเป็น 4 ช่วงชั้น คือ
                     ช่วงชั้นที่ 1 ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-3
                     ช่วงชั้นที่ 2 ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4-6
                     ช่วงชั้นที่ 3 ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1-3
                     ช่วงชั้นที่ 4 ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4-6
              2. กำหนดสาระการเรียนรู้ และกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน
                     2.1 สาระการเรียนรู้ หมายถึง สาระและกระบวนการที่ใช้เป็นสื่อให้ ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ ประกอบด้วย 8 กลุ่ม
                            1) ภาษาไทย
                            2) คณิตศาสตร์
                            3) วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี
                            4) สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม
                            5) สุขศึกษา และพลศึกษา
                            6) ศิลปศึกษา
                            7) การงานและอาชีพ
                            8) ภาษาต่างประเทศ

โครงสร้างของสาระการเรียนรู้ดังกล่าว ประกอบด้วย สาระการเรียนรู้ บังคับ และสาระการเรียนรู้เลือก ดังนี้
สาระการเรียนรู้บังคับ เป็นสาระพื้นฐานที่จำเป็น สำหรับผู้เรียนทุกคน สำหรับภาษาต่างประเทศกำหนดเป็นภาษาอังกฤษในทุกช่วงชั้น
สาระการเรียนรู้เลือก เป็นสาระที่ตอบสนองความสามารถ ความถนัด และความสนใจของผู้เรียน รวมทั้งสนองความต้องการของผู้ปกครอง และ ชุมชน ทั้งด้านวิชาการ วิชาชีพ และเฉพาะทาง
              2.2 กิจกรรมพัฒนาผู้เรียน เป็นองค์ประกอบหนึ่งที่สำคัญของการจัดการเรียนรู้ตามหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานเพิ่มเติมจากการเรียนรู้ตามกลุ่มสาระ เป็นการเชื่อมโยงและบูรณาการสาระการเรียนรู้ตามกลุ่มสาระ ให้เข้ากับชีวิตจริง โดยการจำลองการใช้ชีวิตในสังคม ด้วยการให้ผู้เรียนเข้าร่วมกิจกรรมได้รับประสบการณ์ตรงนอกจากนี้ยังเป็นการจัดกระบวนการแนะแนวให้ผู้เรียนรู้จักตนเองและผู้อื่น รู้สภาพ แวดล้อม รู้ปัญหา และรู้วิธีการที่จะจัดการกับตนเองอย่างสร้างสรรค์
       3. สัดส่วนเวลาการจัดสาระการเรียนรู้ และกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน เพื่อให้การใช้หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน เป็นไปตามหลักการ และบรรลุผลตามจุดหมายของหลักสูตร จึงกำหนดสัดส่วนเวลาของสาระการเรียนรู้ และกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนไว้ดังต่อไปนี้
              3.1 ช่วงชั้นที่ 1 ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-3 และช่วงชั้นที่ 2 ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4-6 มีเวลาประมาณ ปีละ 1,000 ชั่วโมง ให้สถานศึกษาจัดการเรียนรู้ในเชิงบูรณาการตามความเหมาะสม เช่น การทำโครงงาน และพิจารณามุ่งเน้นสาระที่เป็นเครื่องมือการเรียนรู้ ได้แก่ ทักษะการอ่าน การเขียน การคิดคำนวณ และการคิดวิเคราะห์  การจัดสาระการเรียนรู้ของช่วงชั้นที่ 1 และช่วงชั้นที่ 2 ซึ่งใช้เวลาโดยประมาณ ในการจัดสาระการเรียนรู้บังคับ 80 % และเวลาในการจัดกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน 20 % สถานศึกษาสามารถยืดหยุ่นเวลาในการจัดการเรียนรู้แต่ละกลุ่มสาระได้ตามที่เห็นสมควร โดยสอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของสถานศึกษา และจัดการเรียนรู้ในลักษณะโครงงาน สหวิทยาการ บูรณาการข้ามกลุ่มสาระ โดยยึดผู้เรียนเป็นสำคัญ ดังนี้
                     1) กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ เน้นทักษะพื้นฐานในการติดต่อสื่อสาร
                     2) กลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม เน้นทักษะพื้นฐานการคิด วิเคราะห์ วิจารณ์ (มนุษย์กับ สิ่งแวดล้อม)
                     3) กลุ่มสาระการเรียนรู้ศิลปศึกษา สุขศึกษาและพลศึกษา การงานและอาชีพ เน้นการพัฒนาลักษณะนิสัย
              3.2 ช่วงชั้นที่ 3 ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1-3 ให้สถานศึกษาจัดสาระการเรียนรู้เชิงบูรณาการ หรือเป็นรายวิชาหรือเป็นโครงงาน ตามความเหมาะสม โดยมีเวลาเรียนรวมประมาณปีละ 1,200 ชั่วโมง และมีสัดส่วนของสาระการเรียนรู้บังคับ 50% สาระการเรียนรู้เลือก 35% และกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน 15% ของเวลาทั้งหมดสถานศึกษาสามารถยืดหยุ่นเวลาในการจัดการเรียนรู้แต่ละกลุ่มสาระได้ตามที่เห็นสมควร โดยสอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของสถานศึกษา และจัดการเรียนรู้ในลักษณะ โครงงาน สหวิทยาการ บูรณาการข้ามกลุ่มสาระ
              3.3 ช่วงชั้นที่ 4 ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4-6 ให้สถานศึกษาจัดสาระ การเรียนรู้ในแต่ละกลุ่มเป็นหน่วยกิต มีเวลาเรียนปีละไม่น้อยกว่า 1,200 ชั่วโมง โดยมีสัดส่วนของสาระการเรียนรู้บังคับจำนวน 30 หน่วยกิต สาระการเรียนรู้เลือกจำนวนไม่น้อยกว่า 55 หน่วยกิต และกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน ประมาณ 400 ชั่วโมง ของเวลาเรียน
ทั้งหมด สถานศึกษาสามารถยืดหยุ่นเวลาในการจัดการเรียนรู้แต่ละกลุ่มสาระได้ตามที่เห็นสมควร โดยสอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของสถานศึกษา และจัดการเรียนรู้ในลักษณะ โครงงาน สหวิทยาการ บูรณาการข้ามกลุ่มสาระ
4. การจัดการศึกษาสำหรับผู้เรียนกลุ่มเป้าหมายพิเศษ
      การจัดการศึกษาสำหรับผู้พิการ ผู้ด้อยโอกาส ผู้มีความสามารถพิเศษ และ การจัดการศึกษาเฉพาะทาง สถานศึกษา หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและผู้ที่จัดการศึกษาขั้นพื้นฐานต้องจัดการเรียนรู้ให้ผู้เรียนมีคุณภาพตามมาตรฐานการศึกษาและสามารถพิจารณาปรับลดหรือเพิ่มระดับคุณภาพของมาตรฐานให้เหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมายนั้นๆ ได้ ทั้งนี้ให้เป็นไปตามที่กระทรวงกำหนด
ที่มา  www.lib.lpru.ac.th/be/menu2/m21.htm