Accessibility help

เมนูหลัก

การจัดการศึกษาโดยครอบครัว (Home School)

การจัดการศึกษาโดยครอบครัว (Home School)

     นับตั้งแต่พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ   พ.ศ.   2542   ประกาศใช้   การจัดการศึกษาโดยครอบครัวเป็นสิทธิโดยถูกต้องตามมาตรา   12   ที่ให้ครอบครัวจัดการศึกษา   ขั้นพื้นฐานได้   เป็นทางเลือกของครอบครัว   ที่ประสงค์จะจัดการศึกษาให้กับบุตรเอง   หากไม่ประสงค์จะส่งลูกเข้าโรงเรียน   โดยสภาพความเป็นจริงการจัดการโดยครอบครัว   ได้มีการดำเนินงานมาบ้างแล้วก่อนประกาศใช้พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติฯ   แม้จะมีจำนวนไม่มาก   เท่าที่มีข้อมูลประมาณ   2-3   ครอบครัว  

      หลังจากพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติฯ   ประกาศใช้   การดำเนินงานในเรื่องนี้ได้มีการศึกษาองค์ความรู้จากต่างประเทศ   เพื่อนำไปสู่การดำเนินงานที่เป็นรูปธรรมสอดคล้องกับประเทศไทย   พร้อมทั้งได้มีครอบครัวที่ตัดสินใจดำเนินการจัดการศึกษาให้ลูก   ตามสิทธิที่ครอบครัวได้รับโดยถูกต้องตามกฎหมาย   ทั้งนี้ตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติฯ   มาตรา   12   สิทธิการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานโดยครอบครัวนี้   จะต้องเป็นไปตามกฎกระทรวง   กฎกระทรวงว่าด้วยสิทธิการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน   โดยครอบครัวอยู่ระหว่างดำเนินการ   โดยกระทรวงศึกษาธิการ

ความหมาย
การศึกษาโดยครอบครัว   หมายถึง   การศึกษาขั้นพื้นฐานที่ครอบครัวจัดโดยสิทธิคุ้มครองตามกฎหมาย   ซึ่งมีรูปแบบการจัดการศึกษาแบบใดแบบหนึ่งหรือทั้งสามรูปแบบ   ของการศึกษาในระบบ   การศึกษานอกระบบ   และการศึกษาตามอัธยาศัย   อย่างมีการเทียบโอนผลการศึกษาได้

ลักษณะเด่น
การจัดการศึกษาโดยครอบครัวของไทยมีลักษณะเด่น   5   ประการ   ดังนี้
1.   เป็นการจัดการศึกษาที่พ่อแม่   หรือผู้ปกครองเป็นผู้รับผิดชอบโดยตรง   เป็นการจัดการศึกษาเองทั้งหมด   หรือโดยมีข้อตกลงจัดการศึกษาร่วมกันระหว่างครอบครัวกับโรงเรียน   อาจเป็นผู้สอนด้วยตนเอง   หรืออำนวยการให้เกิดการเรียนการสอนขึ้น

2.   มีการจัดตั้งเป็นศูนย์การเรียนครอบครัวเดี่ยว   หรือศูนย์การเรียนกลุ่มครอบครัว   (บางครอบครัวอาจเลือกที่จะไม่เป็นศูนย์การเรียนก็เป็นไปได้)

3.   สาระและกระบวนการเรียนรู้ต่างๆ   ที่จัดขึ้น   เป็นไปในทางตอบสนองต่อปรัชญา   ทัศนะ   ความเชื่อ   ความสนใจ   ความต้องการหรือปัญหาของแต่ละครอบครัว   จึงเป็นนวัตกรรมทางการศึกษาที่มีความแตกต่างหลากหลายกันไป   มีความยืดหยุ่นเป็นอิสระ

4.   ความสำเร็จของการศึกษา   มุ่งไปที่การพัฒนาศักยภาพเด็กเป็นรายบุคคล   อย่างพยายามให้สอดคล้องกับความถนัด   ความสนใจ   และความต้องการที่มีอยู่จริง   จากการเป็นหน่วยการศึกษาขนาดเล็กที่สามารถสร้างกระบวนการเรียนรู้แบบตัวต่อตัว   และผสมผสานไปกับวิถีการดำเนินชีวิต

5.   ไม่ใช่การศึกษาที่เป็นกิจการทางธุรกิจเพื่อผลกำไร   และไม่เป็นไปเพื่อการแอบอ้างแสวงหาผลประโยชน์จากเด็ก  

รูปแบบการดำเนินงาน
การจัดการศึกษาโดยครอบครัว   รูปแบบการดำเนินงานมีดังนี้  
1.   การดำเนินงานโดยครอบครัวเดี่ยว   ในช่วงแรกๆ   ที่ผ่านมา   รูปแบบจะเป็นไปในลักษณะนี้   เนื่องจากสถานการณ์แวดล้อมที่ทำให้ต้องเป็นไปในลักษณะเช่นนี้   การดำเนินงานมีความเป็นปัจเจกค่อนข้างสูง   หลักสูตร   กระบวนการเรียนการสอนเป็นไปตามวิถีสภาพแวดล้อมของครอบครัว   ความคิด   ความเชื่อ   ความสนใจ   มีความหลากหลายแตกต่างกัน   มีลักษณะเฉพาะของแต่ละครอบครัวค่อนข้างสูง   แต่ขณะเดียวกันก็มีสังคมกลุ่มเพื่อนมีความเชื่อมโยง   เกิดกิจกรรมที่นำไปสู่การจัดการศึกษาร่วมกัน   เช่น   ครอบครัวพึ่งอุดม

2.   การดำเนินงานโดยกลุ่มครอบครัวข่ายประสานงาน   ลักษณะการดำเนินงานหลายครอบครัวร่วมกันดำเนินงานในบางกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง   แต่ขณะเดียวกันมีอิสระในวิถีของตัวเอง   มีการจัดการศึกษาทั้งที่บ้านของแต่ละครอบครัว   พร้อมไปกับการจัดการศึกษาร่วมกันของกลุ่มตามที่นัดหมาย   มีการบริหารจัดการที่กระจายไปแต่ละครอบครัว   มากกว่ารวมศูนย์การบริหารอยู่ที่เดียว   เช่น   กลุ่มบ้านเรียนปัญญากร

3.   การดำเนินงานโดยกลุ่มครอบครัว   แบบรวมศูนย์การจัดการในที่เดียว   ครอบครัวหลายครอบครัวรวมกันจัดการศึกษา   ในที่แห่งหนึ่ง   มีคณะครอบครัวทำหน้าที่เป็นคณะกรรมการกำกับดูแลในเรื่องนโยบายและการบริหารจัดการ   การดำเนินงานมีการมอบหมาย   หรือจ้างคณะทำงาน   ทำหน้าที่บริหารจัดการ   มีความต่างจากโรงเรียนดังนี้

     3.1   เป็นโรงเรียนของครอบครัว   ครอบครัวเป็นเจ้าของโดยมีแนวความเชื่อ   จุดมุ่งหมาย   ปรัชญาการศึกษา   ยึดถือร่วมกัน

     3.2   เป็นโรงเรียนขนาดเล็ก   จัดให้เฉพาะลูกหลานในกลุ่ม   ในปริมาณไม่มากนัก

     3.3   เป็นโรงเรียนแบบการกุศล   ไม่มุ่งแสวงหากำไร

     รูปแบบนี้   แต่ละครอบครัวยังไม่พร้อมที่จะจัดการศึกษาด้วยตัวเองได้   ทั้งหมด   เช่น   สถาบันปัญโญทัย   (นายแพทย์พร   พันธุ์โอสถ   เป็นแกน)   การดำเนินงานรูปแบบนี้มีแนวโน้มที่จะเป็นการจัดการศึกษาโดยชุมชน   หรือองค์กรสังคม

4.   ดำเนินการจัดการศึกษาโดยมีข้อตกลงร่วมกับทางโรงเรียน   ครอบครัวได้จัดการศึกษาโดยมีข้อตกลงร่วมกันกับทางโรงเรียน   ในด้านการบริหารจัดการ   หลักสูตร   การเรียนการสอน   เป็นบทบาทของครอบครัว   การวัดประเมินผลร่วมกันระหว่างโรงเรียนกับครอบครัว   โดยโรงเรียนออกใบรับรองให้กับผู้เรียน   พร้อมทั้งอนุญาตให้ใช้สถานที่   ห้องปฏิบัติการ   อุปกรณ์การเรียนการสอน   การจัดทำกิจกรรมเสริมหลักสูตร   ตลอดจนใช้สถานที่ในการพบปะสังสรรค์   มีกิจกรรมสังคมร่วมกับคณะคณาจารย์และนักเรียนในโรงเรียน   การดำเนินงานรูปแบบนี้ครอบครัวและโรงเรียนได้มีการถ่ายทอดแลกเปลี่ยนการเรียนรู้ซึ่งกันและกัน   เช่น   กลุ่มครอบครัวบ้านเรียนชวนชื่น  

การเรียนการสอน
การจัดการศึกษาโดยครอบครัว   มีการจัดการเกี่ยวกับการเรียนการสอนอันได้แก่   รูปแบบการจัดการศึกษา   หลักสูตร   การประเมินผล   ดังนี้

1.   รูปแบบการจัดการศึกษา
การจัดการศึกษาโดยครอบครัว   ได้มีการจัดการศึกษาทั้ง   3   รูปแบบ   คือ   การศึกษาในระบบ   การศึกษานอกระบบ   การศึกษาตามอัธยาศัย   ซึ่งมีทั้งที่เป็นการจัดการศึกษารูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง   หรือทั้งสามรูปแบบผสมผสานกัน   ในสังคมส่วนใหญ่มีลักษณะผสมผสาน   ค่อนไปในเป็นการศึกษานอกระบบ   และการศึกษาตามอัธยาศัย   ทั้งนี้เป็นไปตามรูปแบบการจัดการศึกษาที่แต่ละครอบครัวเลือก   กล่าวคือ

     1.1   ครอบครัวที่เลือกจัดการศึกษาแบบการศึกษาในระบบ   จะมีการกำหนดจุดมุ่งหมาย   วิธีการศึกษา   หลักสูตร   ระยะเวลาการศึกษา   การวัดประเมินผลตามเงื่อนไขของการสำเร็จการศึกษาที่แน่นอน

     1.2   ครอบครัวที่เลือกจัดการศึกษาแบบนอกระบบ   มีการกำหนดจุดมุ่งหมาย   วิธีการศึกษา   หลักสูตร   ระยะเวลา   การวัดประเมินผล   อย่างยืดหยุ่น   สอดคล้องกับสภาพและความต้องการของแต่ละครอบครัว

     1.3   ครอบครัวที่เลือกจัดการศึกษาตามอัธยาศัย   การกำหนดจุดมุ่งหมาย   วิธีการศึกษา   หลักสูตร   ระยะเวลา   การวัดประเมินผล   ยิ่งมีความยืดหยุ่นและมีอิสระมากขึ้น   เป็นไปตามความสนใจ   ศักยภาพ   ความพร้อมและโอกาส   สามารถศึกษาเรียนรู้ได้ทุกสถานการณ์

2.   หลักสูตร
การจัดการศึกษาโดยครอบครัว   กำหนดหลักการและความมุ่งหมายการจัดสาระการเรียนรู้ที่นำไปสู่ความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ของผู้เรียน   การกำหนดเนื้อหาสาระการเรียนรู้จึงมีความยืดหยุ่น   การดำเนินงานในช่วงเริ่มต้นใช้เนื้อหาสาระหลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการ   ควบคู่ไปกับหลักสูตรโรงเรียนสาธิต   โรงเรียนนานาชาติ   หรือต่างประเทศ   โดยยืดหยุ่นเป็นไปตามความพร้อมและความสนใจของลูกเป็นสำคัญ

ต่อมาได้มีการพัฒนา   ด้วยการสร้างหลักสูตรของครอบครัว   มีการกำหนดกรอบกว้างๆ   ที่เป็นความตกลงและเตรียมการร่วมกันระหว่างพ่อแม่และลูก   โดยให้ความสำคัญกับองค์ความรู้   หรือกระบวนการเรียนรู้หลายๆ   สายผสมผสานกัน   ที่สามารถหล่อหลอมคุณลักษณะการเรียนรู้ของเด็กมากกว่าตัวความรู้   ให้ใฝ่รักการเรียนรู้และวิธีการเรียนรู้ให้สามารถสร้างเสริมความรู้ได้ตลอดชีวิต   มากกว่าความรู้อย่างเป็นส่วนๆ

การเรียนรู้ของครอบครัวเกิดขึ้นได้ทุกเวลา   ทุกสภาพการณ์   อย่างเป็นธรรมชาติ   แทรกซึมในวิถีชีวิต   การเรียนรู้เป็นพัฒนาการที่เกิดขึ้นในตัวเด็ก

หลักสูตร   Home   School   มีลักษณะสังเขป   ดังนี้

     -   ขอบเขตเนื้อหาวิชาไม่ต่างไปจากหลักสูตรปกติ

     -   ข้อแตกต่างสำคัญอยู่ที่กระบวนการเรียนการสอนที่ยืดหยุ่น

     -   มีการจัดประสบการณ์เสริมการเรียนรู้อย่างหลากหลาย

     -   มีกิจกรรมนอกบ้านเป็นองค์ประกอบสำคัญ

     -   มีการใช้ประโยชน์จากิจกรรมเครือข่ายพ่อแม่   Home   School

3.   การประเมินผล
การประเมินผลการจัดการศึกษาโดยครอบครัว   มีการประเมินผลอย่างเป็นทางการ   ที่ปฏิบัติอยู่   ดังนี้

1.   ครอบครัวที่ลูกอยู่ในระดับการศึกษาภาคบังคับ   นำชื่อลูกไปฝากไว้กับโรงเรียน   โรงเรียนได้ดำเนินการวัดผล   ประเมินผล   มีการสอบเลื่อนระดับชั้นร่วมกับนักเรียนของโรงเรียน   สำเร็จการศึกษาชั้นประถมศึกษาปีที่   6   จากการเข้าสอบไล่และใช้ข้อสอบเดียวกับโรงเรียน

2.   ครอบครัวที่ลูกโตกว่าระดับการศึกษาภาคบังคับ   ใช้วิธีการเข้ากลุ่มเรียนเสริมและสอบเทียบกับการศึกษานอกระบบ   ของกรมการศึกษานอกโรงเรียน

อย่างไรก็ตาม   แนวทางการประเมินผลของการจัดการศึกษาโดยครอบครัว   มีหลักความคิดที่สำคัญ   ดังนี้

     -   มุ่งพัฒนาการของเด็กอย่างแท้จริง

     -   ใหัความสำคัญกับพัฒนาการเป็นรายบุคคลเพื่อให้เด็กได้ค้นพบวิถีทางพัฒนาตัวเอง

     -   เปิดโอกาสให้เด็กมีส่วนร่วมในการประเมินผลตัวเองด้วย

     -   ให้ความสำคัญในการประเมินจากสภาพจริง   มากกว่าการสอบ   การใช้แบบทดสอบ

     -   มีความต่อเนื่องเห็นตลอดทั้งกระบวนการมากกว่าเพียงชิ้นงานที่เป็น   ผลลัพธ์ในขั้นสุดท้าย

     -   มีความหลากหลายในวิธีการ   ทั้งอย่างเป็นทางการและไม่เป็นทางการ   ตามหลักที่ทุกสิ่งทุกอย่างล้วนเป็นการเรียนรู้และสามารถใช้เป็นประจักษ์พยานแสดงผลของการเรียนรู้ได้ทั้งสิ้น

     -   การสังเกตลูกอย่างใกล้ชิดและมีสัมผัสความเป็นพ่อแม่   เป็นวิธีการที่เป็นธรรมชาติ   เกิดขึ้นจริง   และได้ผลมากที่สุด   ของการประเมินพัฒนาการของลูกภายในครอบครัว  

หลักฐานแสดงผลการศึกษา
การจัดการศึกษาโดยครอบครัว   มีหลักฐานที่แสดงผลการศึกษาของเด็กที่เป็นรูปธรรม   ส่วนใหญ่ประกอบด้วยสิ่งต่อไปนี้

     -   สมุดบันทึก   และแฟ้มสะสมงานของพ่อแม่   แสดงปัญหา   การแก้ปัญหา   การพัฒนาการเรียนการสอน   และพัฒนาการของผู้เรียนรายบุคคล   เป็นต้น

     -   แฟ้มสะสมงานของลูก   ในทุกประสบการณ์การเรียนรู้และเนื้อหาความรู้

     -   สมุดบันทึกของลูก   เช่น   บันทึกส่วนตัว   (ทัศนะ   ประสบการณ์ใหม่   เจตจำนง)   บันทึกแหล่งเรียนรู้   (จากการเดินทาง   ทัศนศึกษา)   สมุดภาพ   เป็นต้น

     -   ผลงานที่นำเสนอในการเรียนรู้ในรูปแบบโครงงาน   ทั้งโดยบุคคลและโดยกลุ่ม  

แนวทางการดำเนินงาน
          ครอบครัวที่ตัดสินใจจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานให้กับลูกจะต้องนำชื่อลูกไปจดทะเบียนกับโรงเรียนที่ยินดีรับ   ทั้งนี้ด้วยพระราชบัญญัติการประถมศึกษา   ได้ระบุว่าเด็กอายุครบ   6   ปีบริบูรณ์จะต้องเข้าโรงเรียน   เพื่อให้เป็นไปตามกฎหมายที่ใช้อยู่ปัจจุบันเด็กทุกคนที่มีอายุครบ   6   ปีบริบูรณ์จึงต้องมีชื่ออยู่ในโรงเรียน   การจัดการศึกษาโดยครอบครัวเป็นสิทธิที่ถูกต้องตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติฯ   แต่สิทธิที่ได้รับนี้จะต้องมีกฎกระทรวงรองรับ   ดังนั้นในช่วงที่กฎกระทรวงยังไม่ได้มีผลบังคับใช้   การดำเนินงานจึงจำเป็นต้องให้สอดคล้องกับระเบียบ   กฎ   ต่างๆ   ที่ใช้บังคับอยู่

          การที่เด็กขึ้นทะเบียนกับโรงเรียน   ก็ต้องมีความตกลงร่วมกันระหว่างโรงเรียนกับครอบครัว   ในเรื่องการเรียนการสอน   การจัดกิจกรรมการเรียนรู้   การวัดประเมินผล   รวมทั้งหลักฐานการเรียนที่จำเป็น

ปัจจุบันมีโรงเรียนที่รับ   Home   School   จดทะเบียน   มี   2   แห่ง   ได้แก่

1.   โรงเรียนหมู่บ้านเด็ก   ต.วังด้ง   อ.เมือง   จ.กาญจนบุรี   71190

2.   โรงเรียนสัตยาไส   ต.ลำนารายณ์   อ.ชัยบาดาล   จ.ลพบุรี   (เริ่มรับครอบครอบจดทะเบียน   ปีการศึกษา   2545)  

จำนวน
การจัดการศึกษาโดยครอบครัว   ปัจจุบันมีจำนวน   86   ครอบครัว   เด็กจำนวน   108   คน   จำนวนที่จดทะเบียนกับโรงเรียนเป็นดังนี้

- โรงเรียนหมู่บ้านเด็ก   80   ครอบครัว   เด็ก   98   คน

ที่มา  http://www.thailearn.net/alter/a101.html